บีบีซีฮึ่มนักข่าวถูกอุ้มกลางกรุง – วันที่ 20 มี.ค. เอเอฟพีรายงานสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา (พม่า) หลังจากกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จนนำไปสู่การลุกฮือประท้วงทั่วประเทศซึ่งทางการตอบโต้ด้วยการใช้กำลังและอาวุธปราบปรามการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตจากการรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมาอย่างน้อย 234 ราย และมากกว่า 2,200 คนถูกจับกุม ถึงอย่างนั้นมวลชนเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมายังสู้ไม่ถอย และรวมตัวประท้วงเป็นวงกว้าง ที่รัฐฉาน ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากป้องกันแก๊ส เดินแถวไปตามถนนหนทางพร้อมตะโกนขับไล่รัฐบาลทหาร ในเมืองทวาย ทางตอนใต้ ผู้ประท้วงจำนวนมากขับขี่ยานพาหนะ ถือรูปภาพนางซู จี และป้ายข้อความว่า “ล้มเผด็จการ” ขณะที่เมืองโม่โกะ จังหวัดปยีนอู้ลวีน มีรายงานว่าการ์ดเฝ้าระวังยามวิกาลถูกโจมตีช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 19 มี.ค. มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 2 คน ในนครย่างกุ้ง พื้นที่ปะทะนองเลือด เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังใช้อาวุธหนักตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงไร้อาวุธและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ทำขึ้นจากของใช้ในบ้าน

อุ้มสื่อ – ภาพถ่ายของนายอ่อง ตูยะ (ซ้าย) นักข่าวบีบีซี และนายตาน ไทก์ อ่อง (ขวา) ผู้สื่อข่าวของมิซซิมา ก่อนถูกจับตัวขึ้นรถตู้หายไปอย่างไร้ร่องรอยขณะรายงานข่าว ด้านนอกศาลในกรุงเนปยีดอว์ เมื่อช่วงกลางวันของวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา (เอเอฟพี)

ขณะเดียวกันมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเมียนมาอีกระลอก หลังจากนายอ่อง ตูยะ ผู้สื่อข่าวบีบีซีภาษาเมียนมา พร้อมด้วยนายตาน ไทก์ อ่อง ผู้สื่อข่าวของมิซซิมา องค์กรสื่อท้องถิ่น ที่ถูกรัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการไปเมื่อต้นเดือนมี.ค.ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์บุกรวบตัวพาขึ้นรถตู้ขณะรายงานข่าวการประท้วงด้านนอกศาลในกรุงเนปยีดอว์ เมื่อช่วงเที่ยงของวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่านายอ่อง ตูยะ และนายตาน ไทก์ อ่อง ถูกใครจับ จับเพราะข้อหาอะไร และจับไปที่ไหน

บีบีซี สำนักข่าวต้นสังกัด ระบุว่าไม่สามารถติดต่อนายอ่อง ตูยะได้อีก “บีบีซีให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงานทุกคนอย่างจริงจัง และเราทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อตามหาอ่อง ตูยะ เราร้องขอให้ทางการช่วยหาพิกัดว่าเขาอยู่ที่ไหนและยืนยันความปลอดภัย นายอ่อง ตูยะ เป็นนักข่าวบีบีซีที่มีประสบการณ์การทำงานและรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเนปยีดอว์มานานหลายปี” บีบีซีระบุในแถลงการณ์ และว่าตั้งแต่กองทัพ ก่อรัฐประหารมีสื่อมวลชนอย่างน้อย 40 คนถูกจับกุมจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้ 16 คนยังถูกควบคุมตัว

ด้านรอยเตอร์รายงานว่า ชาวเมียนมามากกว่า 1,000 คนเดินทางข้ามชายแดนไปยังรัฐ มิโซรัม ประเทศอินเดีย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกองทัพยังใช้ความรุนแรงสลายการประท้วง นายเค. วันลัลวีนา สมาชิกสภาท้องถิ่นรัฐมิโซรัม เปิดเผยว่าทางการรัฐ มิโซรัมเรียกร้องให้รัฐบาลกลางอินเดียเห็นแก่มนุษยธรรมและเร่งช่วยเหลือสร้างค่ายพักพิงชั่วคราวใกล้ชายแดนแก่ผู้ลี้ภัยความรุนแรงจากเมียนมา พร้อมระบุว่าแม้เริ่มแรกผู้ลี้ภัยจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านพลเรือนในรัฐชินพากันข้ามมายัง รัฐมิโซรัม เพราะการปะทะในพื้นที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน