เลือกตั้งในมหาวิทยาลัย – มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ ไทย มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของนิสิตนักศึกษาเป็นการเฉพาะ และมาจากการเลือกตั้งของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด

สำหรับองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ประกอบด้วยนายกสโมสรนิสิต, อุปนายกคนที่ 1, อุปนายกคนที่ 2, เลขานุการ, เหรัญญิก, ประธานนิสิตสัมพันธ์, ประธานฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม, ประธานฝ่ายวิชาการ, ประธานฝ่ายกีฬา และประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์

รวมถึงผู้แทนนิสิต ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการนิสิต หรือนายกสโมสรนิสิตคณะต่างๆ ทั้ง 18 คณะ และผู้แทนจากหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

ในปีการศึกษา 2564 เพิ่งจัดการเลือกตั้งผ่านแอพพลิเคชั่นและทราบผลไปแล้ว

ปรากฏว่าตำแหน่งนายกสโมสร และตำแหน่งบริหารหลักทั้งหมด ตกเป็นของพรรคจุฬาของทุกคน มีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมงาน และเคยเป็นประธานสภานิสิตและปัจจุบันเป็นนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ด้วย

เฉพาะนายกสโมสรนิสิตนั้น ในจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนน 26,219 จำนวนผู้มาลงคะแนน 14,691 คิดเป็น 56.03% หมายเลข 1 คือนายเนติวิทย์ ได้คะแนน 10,324 ทิ้งห่าง หมายเลข 2 ที่ได้คะแนน 2,030 ขณะที่ หมายเลข 3 ได้คะแนน 695 และมีคะแนนงดออกเสียง 1,642

จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับการบันทึกว่าเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นว่านิสิตนักศึกษามีความตื่นตัว สนใจ และอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการของตัวเอง

จากนี้ไปจะต้องติดตามว่าผู้บริหารองค์กรนิสิตจะทำตามที่หาเสียงได้มากน้อยเพียงไร

จากนี้ไป ซึ่งจะเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ ก็จะมีการเลือกองค์การบริหารนิสิตนักศึกษา ตลอดจนตัวแทนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ คาดว่าจะมีความคึกคักไม่แพ้กัน

การตื่นของเยาวชนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ย่อมมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัยอย่างมิอาจตัดขาด หรือแยกออกจากกันได้

เพราะที่ผ่านมา การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนมาถึงปัจจุบัน ล้วนแต่เกิดจาก การรวมตัวของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา เป็นหลัก ถ้าหากสอดคล้องประสานสัมพันธ์กันได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง

ก็จะเป็นพลังทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน