หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร – “วันจันทร์ที่ 5 เม.ย.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 159 ปี ชาตกาล “พระวิสุทธิรังษี” หรือ “หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร” ที่ชาวกาญจนบุรีและในแวดวงนักนิยมสะสม พระเครื่องเรียกว่า หลวงพ่อวัดใต้ หรือ หลวงปู่วัดใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้ หรือ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ต.บ้านใต้ อ.เมืองจ.กาญจนบุรี

เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน 5 ปีจอ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เม.ย.2405 ที่บ้านม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

มีนามเดิมว่า ทองคำ บิดา-มารดา ชื่อ หมื่น อินทร์รักษา (นิ่ม) – นางจีบ พูลสวัสดิ์

ในวัยหนุ่ม มีความเป็นนักสู้ เข้มแข็ง ทรหดอดทน เรียกได้ว่าเป็นนักเลงเต็มตัวตั้งแต่ยังเด็ก รูปร่างล่ำสัน ผิวดำ จึงเรียกชื่อว่า “ทองดำ”

ด้วยบิดามารดามีความเป็นห่วง เกรงว่า ต่อไปในอนาคตจะเอาดีได้ยาก จึงนำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ เป็นศิษย์พระครู วิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เจ้าอาวาสและ เจ้าคณะเมืองกาญจน์ในสมัยนั้น

เมื่อมาอยู่วัด พฤติกรรมก็เปลี่ยนไป กลายเป็นคนสุขุมเยือกเย็น บิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ว่า “เปลี่ยน” นับแต่นั้นมา

เมื่ออายุครบบวช อุปสมบทที่วัดใต้ มีหลวงปู่ช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ และพระอธิการกรณ์ วัดชุกพี้เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายา “อินทสโร”

มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งหนังสือขอม-หนังสือไทย และปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ สำเร็จในทุกวิทยาการที่ได้รับการสอนสั่ง เป็นที่ถูกใจของพระอุปัชฌาย์ จึงตั้งให้เป็นพระใบฎีกา พระฐานานุกรมของท่าน

เมื่อหลวงปู่ช้างมรณภาพ จึงแต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครู วิสุทธิรังษี

ปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ส่งเสริมด้านการศึกษาทั้งด้านปริยัติธรรมและกุลบุตรกุลธิดา โดยจัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียนวิสุทธิรังษี

นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาวัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดมาโดยตลอด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่ พระวิสุทธิรังษี และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชได้พระราชทานสร้อยต่อท้ายเป็น พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์

เป็นเถระที่มีชื่อเสียงในยุคสงครามอินโดจีน เป็นที่กล่าวขวัญว่า มีพุทธาคมเข้มขลัง แม้ขุนโจรชื่อดังยังต้องเคารพยำเกรง พิธี ปลุกเสกและพุทธาภิเษกต่างๆ ต้องมีชื่อของท่านร่วมด้วยเสมอ แม้แต่พระราชพิธีสำคัญๆอาทิ งานถวายพระเพลิง ร.5, เสวยราชย์ ร.6, งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ฯลฯ

มีลูกศิษย์มากมาย ที่เป็นพระเกจิผู้มี ชื่อเสียงต่อมา เช่น พระเทพมงคลรังษี (หลวงปู่ดี) วัดเหนือ จ.กาญจนบุรี และ พระเทพสังวรวิมล (หลวงปู่เจียง) วัดเจริญสุทธาราม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

ล่วงวัยชราอายุย่างเข้า 85 ปี อาพาธด้วยโรคชรา ตั้งแต่เดือน ก.ค.2489 คณะแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณพยายามรักษา แต่อาการมีทรงกับทรุดมาโดยลำดับ

กระทั่ง ถึงแก่การมรณภาพด้วยอาการ อันสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 เม.ย.2490 เวลา 09.25 น.

สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน