สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) วัดระฆังโฆสิตาราม – วันเสาร์ที่ 17 เม.ย.2564 น้อมรำลึก ครบ 233 ปี ชาตกาล “สมเด็จ พระพุฒาจารย์” (โต พรหมรังสี) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 4-5

ธรรมะและวัตรปฏิบัติ จับจิตตรึงใจทุกยุคสมัย แม้กระทั่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เป็นตำนานที่เล่ากี่ครั้งกี่หนก็บังเกิดแต่ความรู้สึกดี

เป็นพระสงฆ์ที่คนรู้จักมากที่สุด พระชินบัญชรคาถา เป็นบทสวดภาวนาที่ได้รับความศรัทธาสูงสุด แต่ละบทกล่าวสรรเสริญ และอัญเชิญพระบารมีแห่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ตลอดทั้งพระอรหันสาวกทั้งหลาย เพื่อการปกป้องคุ้มครองรักษาผู้สวด

กำเนิดวันพฤหัสบดี 17 เม.ย.2331 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก จุลศักราช 1150 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาชื่อ “เกศร์” หรือ “เกตุ” บางตำราว่าชื่อ “นางงุด” ดั้งเดิมเป็นชาวอุตรดิตถ์ ก่อนย้ายมาให้กำเนิดท่านที่บ้าน ต.ไก่จ้น อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา บรรพชาที่วัดอินทรวิหาร พระบวรวิริย เถระ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม (วัดบางลำพูบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นนาคหลวง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม เล่าเรียน จากสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังฯ และได้เรียนต่อกับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุฯ นอกจากนี้แล้วไม่มีบันทึกไว้ชัดเจน

ครั้งเป็นสามเณรโต มักได้รับคำชมจากอาจารย์ว่ามีความทรงจำดีเยี่ยม ปฏิภาณเป็นยอด เมื่อเป็นพระภิกษุ ยิ่งทรงคุณ ทรงความรู้ ทรงภูมิธรรม มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมๆ

วิปัสสนาธุระ คันถธุระ และหรือคุณวุฒิเด่นๆอย่างโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ล้วนเป็นเลิศ

ชอบสร้างอะไรให้ใหญ่โตไว้เพื่อให้สมกับนามของท่าน งานประติมากรรม อาทิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์วัดสะตือ จ.พระนครศรีอยุธยา อนุสรณ์ว่าท่านได้เกิดที่นั่น, พระพุทธรูปยืน (พระศรีอริยเมตไตรย) วัดอินทรวิหาร กทม. อนุสรณ์ว่าท่านมาหัดเดินและเติบโต, พระเจดีย์นอน วัดลครทำ กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเพื่อประสงค์ให้เป็นพระธรรมเจดีย์บรรจุพระธรรม, พระพุทธรูปนั่ง วัดพิตเพียน(วัดกุฎีทอง) จ.พระนครศรีอยุธยา, พระพุทธรูปยืนวัดกลางคลองข่อย ฯลฯ

นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน นอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ยังทรงคุณทางด้านวิทยาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล“พระสมเด็จ” ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่อง 1 ใน 5 ของประเทศไทย ยังปรากฏเกียรติคุณความเป็นพระนักเทศน์ระดับชั้นธรรมกถึก ในอดีตพระเถระผู้ใหญ่ระดับชั้นพระราชาคณะต้องหมุนเวียนกันเข้าสวดฉันจังหันและแสดงธรรมเทศนาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีในหลวงทรงเป็นประธาน

สามารถเทศน์กัณฑ์มัทรีได้ไพเราะจนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงโปรดให้เป็นนาคหลวง และรัชกาลที่ 2 พระราชทานเรือ กราบกันยา หลังคากระแชง ซึ่งเป็นเรือทรงในพระองค์เจ้าให้ไว้ใช้ในกิจส่วนตัว

รัชกาลที่ 4 ก็ทรงโปรดการเทศน์เป็นอย่างมาก ตรัสว่า “ถ้าไม่ได้เห็นขรัวโตหลายๆ วันครั้งใด รู้สึกเหงาๆ ได้สนทนากับขรัวโตแล้วสบายใจดี”

รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ

ถัดมา 2 ปี ทรงสถาปนาให้เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ

ในปีที่ 5 แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ ได้ไปดูการก่อสร้างพระโต วัดบางขุนพรหมในอาพาธและมรณภาพวัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) ตรงกับวันที่ 22 มิ.ย.2415

สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน