โลก (2) – โลก ทางคติ สัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู พระเจ้าสูงสุดมีลักษณะเป็นมนุษย์

ได้แก่ พระศิวะหรือ พระอิศวร มีฐานะเป็นผู้ทำลาย พระนารายณ์เป็นผู้รักษาโลก หรือผู้ทำลายผู้คิดร้ายต่อโลก และพระพรหม เป็นผู้สร้างโลก

โลกในทัศนะของศาสนาฮินดูเกิดจากการสร้างของพระพรหม และจะถูกทำลายล้างโดยไฟบรรลัยกัลป์ ที่เกิดจากการเปิดตาที่ 3 ของพระศิวะ และโลกก็จะเกิดขึ้นใหม่ทันทีจากการร่ายรำของ พระศิวะหรือชื่อของพระศิวะขณะร่ายรำว่า นาฏราช โลกในศาสนาฮินดูจึงมีการเกิด ดับ เกิด ดับ เป็นนิรันดร์ คล้ายกับพุทธศาสนา

สำหรับพุทธศาสนา โลกเป็น ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทางรูปธรรมพุทธศาสนาเชื่อว่า โลกนี้มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่ทันทีเป็นธรรมชาติ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครทำลาย แตกต่างจากความเชื่อ ของศาสนาฮินดู

ในทางนามธรรม (จากคำบรรยายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ท่านบรรยายความว่า ทรรศนะทางพุทธศาสนาของโลก มี 3 ทรรศนะ คือ

ทรรศนะที่ 1 เรียก โอกาศโลก โอกาศนี้ในภาษาบาลีแปลว่า อวกาศ (คือช่องว่าง) และในอวกาศนี้มีการประกอบด้วย ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อประกอบอยู่ด้วยอวกาศจึงเกิดเป็นโลก

ทรรศนะที่ 2 สังขารโลก สังขารแปลว่า การปรุงแต่ง การ ปรุงแต่งมี 2 ประการคือ โลกอันมีธรรมชาติปรุงแต่ง ขึ้นเหมือนทรรศนะที่ 1 กับโลกที่มีธรรมชาติที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น ปรุงแต่งด้วยใจและด้วยกรรม

ทรรศนะที่ 3 สัตว์โลก สัตว์โลก หมายถึง โลกของสัตว์หรือของสิ่งมีชีวิต แปลเป็นภาษาทางธรรมก็ คือ สัตว์โลก คือสังขารที่มีอุปทานเข้าไปยึดถือ ไม่ว่าด้วยยึดในตัวเองหรือยึดในสิ่งอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก

นอกจากคำอธิบายเรื่องของโลกในทรรศนะของ ศ.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์แล้ว โลกในทรรศนะทางพุทธศาสนาจากคัมภีร์อังคุตตร นิกาย ติกกิบาท ยังได้พูดถึงโลกธาตุกับจักรวาลโดยกล่าวว่า โลกธาตุหนึ่ง ประกอบด้วยจักรวาลรวมกันมากมายนับมิถ้วน แต่ละในจักรวาลนั้นก็มีลักษณะเหมือนสุริยจักรวาลของนักฟิสิกส์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกหมุนเวียนกัน

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน