ท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดีกนอ.โชว์ลงทุนไทยเนื้อหอม – ฝากผลงานทิ้งทวนไว้ได้อย่างสวยงาม ก่อนน.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะหมดวาระลงเมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนชะลอลงอยู่บ้าง เนื่องจากการระงับเดินทางข้ามประเทศชั่วคราว

เห็นได้จากการขาย/ให้เช่าที่ดินของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-มี.ค.2564) รวมประมาณ 473.75 ไร่ ลดลง 66.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการขาย/เช่าในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 394.42 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 79.33 ไร่

แต่ผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรก ของปีงบประมาณ มีมูลค่าการลงทุนรวม 106,146.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 287.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ.ระบุว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่ยังคงมีการลงทุน ต่อเนื่องและขยายการลงทุนเพิ่ม ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการขยายการลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม

เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง, เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ, ยาง พลาสติกและหนังเทียม, เครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่, เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ยังลงทุนมากที่สุด ในช่วง 2 ไตรมาสของปี 2564

กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.94% ยังคงครองแชมป์การลงทุน รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.69% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.95%

อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.2% อุตสาหกรรมปุ๋ย สีและเคมีภัณฑ์ 5.99% โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ถึง 37.36% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 8.16% สหรัฐ 6.79% สิงคโปร์ 6.78% และไต้หวัน 4.11%

แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมจะชะลอการลงทุนลง แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบโครงสร้าง พื้นฐานของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างเป็น รูปธรรม สามารถจูงใจการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้”

เร็วๆ นี้จะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อีก 3 แห่ง หลัง กนอ.ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษา

ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการ เอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชนรวม 62 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ

ทำให้ กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม 177,890 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่า 118,362 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 90,657 ไร่ และยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีก 27,706 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.69 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 5,080 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 548,682 คน

ขณะที่การจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรม มีประมาณ 4,655 คน ลดลงกว่า 42% เนื่องจาก โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ปรับเปลี่ยน เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น

สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการตามแนวทางของกนอ.

ตั้งเป้าหมายให้ทุกนิคมก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้ตรง กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถเชื่อมโยงข้อมูล การขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค รวมถึงบริการต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน