เมื่อไหร่เยียวยา – มีสัญญาณและเสียงเรียกร้องดังมากขึ้นแล้ว ถึงเรื่องเยียวยาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิดรอบใหม่ เป็นผลจากมาตรการควบคุมโรคอันเข้มข้นขึ้น กระทบต่อการดำรงชีพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ

ยิ่งพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมเข้มข้น กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี และเชียงใหม่ รัฐบาลออกคำสั่งห้ามรับประทานอาหารในร้าน กระทบต่อร้านค้ารายได้ลดลง พนักงานลูกจ้างร้านต้องรับผลพวงไปด้วย นี่ยังไม่รวมถึงปิดสถานบริการบันเทิงไปก่อนหน้านี้

ขณะที่การระบาดยังแพร่ขยาย ไม่มีแนวโน้มลดลง ผู้บริโภคเองก็หลีกเลี่ยงเข้าไปใช้บริการภายในร้าน ระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงาน

เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ที่ยังมองไม่เห็นหนทางข้างหน้า

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องดังกล่าว การชี้แจงทั้งจากผู้นำและคนในรัฐบาลเอง แม้เน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันที แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีวี่แววจะเมื่อไหร่ และอย่างไร

ในการประชุม ศบค.นัดพิเศษ กระทรวงการคลังระบุสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนยังไม่สามารถออกไปใช้จ่ายได้ตามปกติ ยังทำงานที่บ้าน ทำให้ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการออกมาตรการใหม่

โดยกระทรวงการคลังยังเชื่อมั่นมาตรการที่มีอยู่ ทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน เพียงพอกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเดือนพ.ค.

คำถามคือเมื่อไหร่จังหวะเวลาเหมาะสม และมาตรการแค่นี้จะเพียงพอหรือไม่

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจากระบาดรอบแรก ต้นปี 2563 มีบทเรียนมาแล้วถึงการเยียวยาล่าช้าของรัฐบาล ประชาชนเดือดร้อนทุก หย่อมหญ้า กิจการต่างๆ ล้มพับไปเป็นอันมาก

ยิ่งระบาดรอบใหม่ขยายวงกว้าง ติดเชื้อรวดเร็ว รุนแรงมากยิ่งขึ้น ล่าสุดกรณีชุมชนคลองเตย ชุมชนบ่อนไก่ ใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากอันตรายจากโรคแล้ว ผู้คนจำนวนมากต้องถูกคัดกรอง กักตัว ย่อมกระทบต่อการ ดำรงชีพตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ขณะเดียวกัน การจัดหานำเข้าวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันการณ์ต่อโรค อีกทั้งวัคซีนที่ใช้อยู่ขณะนี้ ยังมีคำถามเรื่องประสิทธิภาพ

ดังนั้นในท่ามกลางสถานการณ์นี้ การเยียวยา ต้องรวดเร็ว จะชักช้าเหมือนวัคซีนไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน