คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ดารา – การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นระยะ

ตั้งแต่กรณีไม่ได้จัดหาแต่เนิ่นๆ ให้เร็วกว่านี้ ไม่ได้จัดระบบการลงทะเบียนให้เหมาะกับกลุ่มประชากร

จนถึงกรณีที่ไม่ได้จัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตให้มีหลากหลายชนิดมากกว่า ซิโนแวคจากจีน และแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษที่ไทยจะร่วมการผลิตด้วย

ทุกประเด็นที่ถูกวิจารณ์ รัฐบาลตอบโต้และชี้แจงมาเป็นระยะเช่นกัน

แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นและควรเห็น คือแผนปฏิบัติการวัคซีนทั้งหมดที่จะมีขึ้นในปี 2564 และต่อเนื่องในปี 2565 หรือปีต่อๆ ไป

เมื่อประชาชนไม่เห็นแผนงาน หรือนึกไม่ออกว่าอนาคตจะมีอะไรตามมาเป็นขั้นเป็นตอนบ้าง จึงทำให้ประเด็นวัคซีนขณะนี้สะเปะสะปะ วูบวาบไปรายวัน

แม้แต่การที่ดาราโพสต์ภาพและข้อความรณรงค์ให้ประชาชนร่วมใจฉีดวัคซีน ก็เป็นประเด็นดราม่าที่เกิดคำถามด้วยว่า ทำไมดาราถึงได้ฉีดวัคซีนก่อน

เพราะหน่วยงานรัฐต้องการประชาสัมพันธ์กับประชาชน หรือเพราะดาราลงทะเบียนจองตามคิวปกติ

พร้อมกับเกิดการเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไปที่ยังลงทะเบียนไม่ผ่าน หรือยังต่อคิวไม่ได้เพราะเต็มแล้ว ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร หรือปริมาณวัคซีนที่ฉีดได้ในแต่ละวัน

ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนในชุมชนแออัดที่ไม่ได้ป่วยได้ฉีดครบแล้วหรือไม่ หากยังต้องใช้เวลาถึงเมื่อใดจึงครอบคลุมทั้งหมด

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้น แต่เมื่อเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงประเด็นที่เปราะบางและกระทบจิตใจของประชาชนได้ง่าย

โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกับเผยช่องโหว่ในด้านสวัสดิการสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่แตกต่างกันตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อรวมกับวิธีการจัดการของหน่วยงานราชการและรัฐบาลที่นิยมใช้การบริหารอำนาจแบบรวมศูนย์ จึงทำให้โครงการหรือแผนงานวัคซีนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง ผิดฝาผิดตัว ผิดจังหวะ

จนเกิดคำถามให้รัฐบาลต้องมาอธิบายว่าทำไมดาราจึงได้ฉีดวัคซีนก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน