เปิดหลักเกณฑ์แท็กซี่ป้ายดำ – แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทย ที่เรียกเสียงฮือฮาคือการผลักดันให้แท็กซี่แกร็บถูกกฎหมาย เพราะหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกลัวมาแย่งอาชีพแท็กซี่คนไทย

แต่พรรคกลับชูเป็นนโยบายหลักในการแก้ปัญหาปากท้อง หวังให้คนไทยที่มีรถมีอาชีพเสริม โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่าแอพพลิเคชั่นเข้ามาเป็นตัวช่วย และยังมองว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกและความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการอีกด้วย

หลังจากภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยที่กำกับกระทรวงคมนาคม สั่งกรมการขนส่งทางบกเดินหน้านโยบายเปิดเสรีบริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง (Ride Hailing Service) เต็มสูบ

นำร่องจากการปลดล็อกให้แกร็บแท็กซี่ หรือแกร็บป้ายเหลือง (Grab Taxi) เป็นบริการถูกกฎหมายก่อน

ล่าสุดสามารถผลักดันให้แกร็บป้ายดำ หรือการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาวิ่งให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นบริการที่ถูกกฎหมายได้สำเร็จภายในระยะเวลา 2 ปีของการบริหารงาน

ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ…….แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่รถส่วนบุคคลหรือรถป้ายดำ จะมาวิ่งรับจ้างสาธารณะได้แบบไม่ผิดกฎหมายนั้น เจ้าของรถและเจ้าของแอพพลิเคชั่น ต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ

ข้อกำหนดเบื้องต้น ดังนี้ ตัวรถต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.รถขนาดเล็ก เครื่องยนต์ 50-90KW เช่น March, Vios, City และ Mirage อัตราค่าโดยสารไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ปัจจุบัน

2.รถขนาดกลาง เครื่องยนต์ 90-120 KW เช่น Altis, Civic ค่าโดยสารต้องไม่เกินแท็กซี่ในปัจจุบัน

และ 3.ขนาดใหญ่ เครื่องยนต์มากกว่า 120 KW เช่น Accord, Fortuner ค่าโดยสารต้องไม่เกินอัตราของรถแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน

สามารถจัดเก็บค่าบริการเพิ่มได้แต่ต้อง ไม่เกิน 200 บาท โดยรมว.คมนาคมเป็น ผู้ประกาศกำหนดอัตราค่าโดยสาร

ส่วนผู้ที่ขับขี่ต้องสอบใบขับขี่สาธารณะ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และใช้ แอพพลิเคชั่นที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น

ต้องทำประกันภัยคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแอพพลิเคชั่น

ขณะที่เจ้าของแอพพลิเคชั่นต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในไทยทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ไม่เคยถูกเพิกถอนการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS และต้องผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก

ตัวแอพพลิเคชั่นที่จะนำมาใช้ต้องใช้สำหรับเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างเท่านั้น ต้องมีรายละเอียด ผู้ขับรถและผู้โดยสาร

คนขับต้องมีระบบการยืนยันตัวตน เช่น Pin Code หรือ Face Scan มีระบบคำนวณเส้นทาง, ระยะเวลา และค่าโดยสาร, มีระบบรับ-ส่งข้อความและโทรศัพท์ของ ผู้โดยสาร

ผู้โดยสารต้องมีระบบลงทะเบียน, ระบบเรียกใช้งานรถแบบทันทีและแบบ จองล่วงหน้า, ระบบคำนวณเส้นทาง ระยะเวลา ค่าโดยสาร, ระบบประเมินความ พึงพอใจผู้ขับรถ และระบบแจ้งเหตุ ฉุกเฉินด้วย

บริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นในไทยที่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab), บริษัท เพอร์พิล เวนเจอร์ จำกัด (Robinhood), บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda), บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด (Gojek) และบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

ตั้งเป้าเปิดให้บริการเดือนก.ค.นี้

ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน