ทูตยูนิเซฟเรียกร้องG7 บริจาควัคซีนโควิด-19 – ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ ปริยังกา โจปรา โจนาส, เดวิด เบ๊กแฮม, เคที เพอร์รี, ออร์แลนโด บลูม, วูปี โกลด์เบิร์ก, แองเจลีก คิดโจ และ เลียม นีสัน ร่วมออกจดหมายเปิดผนึกกับเหล่าคนดัง ผู้สนับสนุนองค์การยูนิเซฟอีก 28 คน เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ให้คำมั่นที่จะบริจาควัคซีนโควิด-19 แก่ประเทศยากจนโดยทันที

จดหมายเปิดผนึกเผยแพร่เมื่อ 8 มิ.ย. ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ที่เริ่มขึ้นศุกร์ที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้เหล่าผู้นำให้คำมั่นแบ่งปันวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 20 อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยลดการระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส แก่ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

เหล่าคนดังที่มาร่วมสนับสนุนยูนิเซฟ อาทิ รามลา อาลี, เฟร์นันโด อาลอนโซ, เดวิด เบ๊กแฮม, ออร์แลนโด บลูม, โฮเซ่ มานูเอล คาลเดอรอน, โซเฟีย คาร์สัน, เจ็มม่า ชาน, ปริยังกา โจปรา โจนาส, วูปี โกลด์เบิร์ก, แอนดี้ เมอร์เรย์, เลียม นีสัน, เคที เพร์รี และเซร์ฆิโอ ราโมส

จดหมายระบุ “ทั้งโลกใช้เวลาปีครึ่งต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 แต่ไวรัสยังระบาดอยู่ในหลายประเทศและกำลังกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง อาจพาพวกเราทุกคนถอยหลังกลับไปยังที่เดิม นั่นหมายความว่าจะมีการปิดเรียนเพิ่มขึ้น เกิดความโกลาหลในระบบสาธารณสุข และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น คุกคามความเป็นอยู่และอนาคตของเด็กและครอบครัวทั่วทุกหนแห่ง”

จดหมายยังกล่าวเตือนว่าโครงการโคแวกซ์ (COVAX) โครงการความร่วมมือทั่วโลกในการสนับสนุนประเทศยากจนให้เข้าถึงวัคซีน กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนอยู่190 ล้านโดส และเสนอให้กลุ่ม G7 บริจาควัคซีนร้อยละ 20 ของประเทศตนเองระหว่างมิ.ย.-ส.ค. 150 ล้านโดส เพื่ออุดช่องว่างและแก้ปัญหาการขาดแคลนครั้งนี้

“ในฐานะทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ ผมเชื่อในประโยชน์ของการฉีดวัคซีน” เดวิด เบ๊กแฮม กล่าวและว่า “วิกฤตโควิด-19 ไม่จบจนกว่าการระบาดจะสิ้นสุด จำเป็นที่ทุกชุมชนทั่วโลกจะเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมโดยทันที”

ปริยังกา โจปรา โจนาส ทูตสันถวไมตรีองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “วิกฤตในอินเดียและทั่วทวีปเอเชียใต้ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งร้ายแรง ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสถานพยาบาลทั่วอินเดีย เตียงในหลายคนสูญเสียพ่อแม่ ถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพังและตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่จำเป็น วัคซีน และการศึกษา”

วิกฤตในอินเดียทำให้เห็นว่าทำไมเราจึงต้องเร่งดำเนินการทันทีเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัส ยูนิเซฟและพันธมิตรโครงการ โคแวกซ์กำลังเร่งจัดส่งวัคซีนไปยังกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดของโลกอยู่ แต่ไม่สามารถทำได้ตามลำพัง ทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้คือให้ประเทศ G7 แบ่งปันวัคซีนโควิด-19 ส่วนเกินโดยทันทีให้แก่ประเทศที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชากรกลุ่มเปราะบางจำเป็นต้องได้รับวัคซีนมากที่สุด

ด้าน นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “ดิฉันยินดีที่ได้เห็นผู้สนับสนุนยูนิเซฟจำนวนมากออกมาร่วมเรียกร้องให้เกิดการสนับสนุนโครงการโคแวกซ์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราต่อสู้กับวิกฤตนี้ได้ในทุกที่ทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้วการระบาดไม่ได้จำกัดเส้นกั้นพรมแดน การต่อสู้กับเชื้อไวรัสและการกลายพันธุ์จึงไม่ควรต้องจำกัดพรมแดนเช่นกัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน