ห้องเรียนไฮกา เฝ้าดูคุณครูนกเงือก – เวลานี้เด็กๆ ที่หมู่บ้านปาโจ นราธิวาส ยังไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่รู้ว่าเมื่อไรโรงเรียนจึงจะเปิดได้ตามปกติและปลอดภัยพอ แต่อีกด้านหนึ่งนั้นผู้ใหญ่ทุกคนต่างรับรู้ว่าการเรียนรู้ของเด็กๆ เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง หัวใจในการเรียนรู้ของเด็กๆ เปิดกว้างเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธรรมชาติ

ไฮกา ด.ช.อาดัมฮาเรฟ ซีแต ก็เป็นเช่นนั้น เขาใช้ซุ้มบังไพรหลังเล็กของเยาะหรือคุณตาเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ศึกษาเรียนรู้ ติดตามชีวิตนกเงือกหัวแรดครอบครัวหนึ่งเป็นเวลาสามเดือนมาแล้ว

บังไพรของคุณตาหลังนี้สร้างขึ้นง่ายๆ ด้วยไม้หลัก 4 เสา มุงหลังคาและปกปิดผนังสี่ด้านด้วยใบมะพร้าว พรางตาให้กลมกลืนไปกับป่า ใช้เป็นสถานที่เก็บข้อมูลงานวิจัยนกเงือกในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของ นกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่คุณตาทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยอยู่

เมื่อยังเล็กไฮกาได้แต่วิ่งตามคุณตาไปโน่นไปนี่ ขึ้นเขา เข้าป่า เพราะสนุก พอโตขึ้น อ่านออกเขียนได้ ก็ขยับมาเฝ้าดูนกแบบตั้งใจ ช่วยคุณตาจดบันทึก ฝึกฝนทักษะการสังเกต หลายอย่าง บังไพรของคุณตาจึงเป็นห้องเรียนที่ไฮกาโปรดปรานมากที่สุดในขณะนี้ มากกว่าห้องเรียนปกติในโรงเรียนอย่างเทียบกันไม่ได้ บางช่วงมีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแวะเวียนมาเฝ้าดู เติมเต็มประสบการณ์ให้นักเรียนน้อยไฮกาอยู่เสมอ ช่วยให้พัฒนาการของไฮกาก้าวไปเป็นลำดับ

เริ่มต้นฤดูกาลทำรังของนกเงือกหัวแรดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม นักเรียนน้อยไฮกาก็เริ่มเข้าห้องเรียนที่ซุ้มบังไพรนี้นับแต่นั้น เฝ้าสังเกตตั้งแต่นกจับคู่กันมาดูโพรงรัง ทำความสะอาดโพรง ปรับปรุงโพรงที่จะต้องเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ จนกระทั่งฟักไข่ เลี้ยงลูกนกอยู่ภายใน เรื่องราวชีวิตของนกเงือกหัวแรดครอบครัวนี้ช่างน่าทึ่ง ไม่เฉพาะกับเด็กชายไฮกาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับทุกคนที่ได้มาเห็นชีวิตนกเงือกขนาดใหญ่ที่น่าอัศจรรย์

“มันตัวใหญ่ สีสวย บินดัง ชอบดูเวลามันบิน ชอบดูมันเอาอะไรมาป้อนลูกมัน” ไฮกาบอกว่าหลงรักตั้งแต่วันแรกจนบัดนี้ไม่เคยเปลี่ยนใจ

ห้องเรียนในบังไพรมีนกเงือกหัวแรดเป็นคุณครู ให้บทเรียนไม่ซ้ำแบบในแต่ละวัน ทำให้ไฮกาตื่นแต่เช้า รับผิดชอบตัวเองเป็น มีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ รู้จักเคารพในสิทธิและพื้นที่ของผู้อื่น แอบดูเงียบๆ ไม่รบกวน ไม่เข้าใกล้ ไม่ก้าวก่ายชีวิตนกเงือกแต่อย่างใด

“ไม่เสียงดัง ดูเงียบๆ อยู่เงียบๆ เช้าถึงเที่ยง กินข้าวในซุ้ม จำ รายละเอียดให้มากๆ ถ้าไม่รู้ถามเยาะ” ไฮกาบอกอย่างนั้น

เมื่อบทเรียนบทหนึ่งจบลง อาจจะเป็นตอนที่พ่อแม่นกประสบความสำเร็จในฤดูทำรัง ได้ลูกนกออกสู่ป่า มาทำหน้าที่ที่สำคัญในธรรมชาติ บทเรียนบทใหม่ก็เกิดขึ้น หมุนวนต่อไป วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ข้อมูลจากบังไพรและจาก ไฮกาเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันให้คนไกลป่าตระหนักว่าชุมชนช่วยกันดูแลนกเงือก เพื่อให้นกเงือกทำหน้าที่ปลูกป่าแทนเรา

มาทำความรู้จักนกเงือกหัวแรดผ่านห้องเรียนของไฮกา ให้กำลังใจและสนับสนุนความฝันของเด็กน้อยหัวใจอนุรักษ์ ในรายการ ทุ่งแสงตะวัน ตอน ห้องเรียนของไฮกา วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2564 ทางช่อง 3 กด 33 เวลา 05.05 น. และติดตามต่อทางเพจ เฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน ตอนสายๆ 07.30 น.

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน