ปรับแผนสร้างอาชีพ ลุยฝ่าวิกฤตโควิด-19 – จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ทำให้หลายคนต้องปรับตัวในการประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอด ซึ่งบางรายก็ไปได้สวย สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

เริ่มจากครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ภริยาเสียชีวิต นายกิตติศักดิ์ ดำเม็ง อายุ 38 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง มีอาชีพสอนฟุตบอลและทำชุดกีฬาขาย ขณะที่ลูกชาย 2 คนคือ น้องแชมป์ อายุ 9 ขวบ และน้องกาฟิวส์ อายุ 6 ขวบ ได้ไปรำมโนราห์ตามงานต่างๆ เพื่อหารายได้เสริม พอมีโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก

หลังจากนั้นได้มาเห็นการทำเทริดมโนราห์ จึงเกิดไอเดียทำเทริดมโนราห์จิ๋ว สูงประมาณ 9 ซ.ม. และหน้าพรานจิ๋ว หรือครูใหญ่พรานบุญ สูงประมาณ 7 ซ.ม. โดยมีน้องแชมป์คอยช่วยงาน

โดยใช้ไม้ขนุน ไม้ยอ พร้อมทั้งกะลามะพร้าว เนื่องจากมีความเชื่อว่ากะลามะพร้าวเป็นของสูง สะอาด ส่วนน้ำมะพร้าวก็เป็นน้ำที่บริสุทธิ์ และนำขวดพลาสติกที่รีไซเคิลแล้วมาตัดแต่งขึ้นให้เป็นรูปทรง ประดับด้วยลูกปัด เลื่อม กากเพชร ลูกแก้ว และอื่นๆ

เทริดมโนราห์จิ๋ว จำหน่ายพร้อมตู้กระจก 799 บาท หากไม่ใส่กระจก 499 บาท นิยมนำไปติดตั้งไว้หน้ารถ หรือขึ้นหิ้งบูชา เพื่อคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย

หน้าพรานจิ๋ว ราคา 299 บาท มีคติความเชื่อที่สืบทอดกันมา ของหมู่คณะมโนราห์ว่า เป็นศาสตร์วิชาแห่งมนตรามหาละลวย เสริมเมตตา เสริมเสน่ห์

ติดต่อเพจ FC SHOP หรือโทร. 09-3637-3567

มาที่ จ.ราชบุรี พบกับ น.ส.นงนุช เสลาหอม หรือ ผู้ใหญ่เจี๊ยบ ผู้ใหญ่บ้านห้วยขวาง หมู่ที่ 11 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง พร้อมด้วยทีมอาสาหมู่บ้าน และกลุ่มเยาวชน กำลังช่วยกันขุด และตัดแต่งหน่อกล้วยบรรจุลงกล่อง ส่งให้ลูกค้าทั่วประเทศ

ผู้ใหญ่เจี๊ยบบอกว่า ตั้งแต่มีโรคโควิด-19 ปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านห้วยขวาง หลายครอบครัวขาดรายได้ ตกงาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่าง “สวนหลังบ้าน” ที่เคยนำสินค้ามาขายช่วงวันหยุดให้กับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ก็ต้องปิดตัวลงชั่วคราว

จากการสำรวจทุกหลังคาเรือน พบว่ามีการปลูกกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำมาโพสต์ขายในเพจเฟซบุ๊ก “สวนหลังบ้าน” ในชื่อโครงการ “ห้วยขวาง Market” พร้อมสโลแกน “มากกว่าการสั่งซื้อ คือการสนับสนุนชุมชน”

มีทั้งกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง น้ำว้ายักษ์ น้ำว้าไส้แดง หอมทอง หักมุก เล็บมือนาง และเทพพนม สินค้าอื่นก็มี อาทิ น้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง พืชสวนครัว สินค้าแปรรูปต่างๆ

ชาวบ้านจะมีรายได้จากค่าสินค้า ส่วนกำไรที่หักจากการบริหารจัดการ จะแบ่งให้กับเยาวชนที่เข้ามาร่วมงาน

ติดต่อเพจเฟซบุ๊ก “สวนหลังบ้าน” หรือโทร. 08-1570-7770

ส่วนที่บ้านเลขที่ 1/5 หมู่ 11 บ้านหนองแสง ต.นาแขม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ของ นางจุฬารัตน์ ไชยนิสงค์ หรือป้าจ่อย อายุ 57 ปี ได้รวมกลุ่มจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่” มีป้าจ่อยเป็นประธานกลุ่ม

ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 35 คน เพื่อให้สมาชิกนำผลิตผลจากหน่อไม้ของแต่ละคน มาขายและยังรับซื้อจากข้างนอกบ้างเพื่อนำมาแปรรูป

โดยคิดทำหน่อไม้อบแห้งขึ้นมาเพื่อจะได้เก็บไว้ได้นาน มีน้ำหนักเบา สะดวกต่อการขนส่ง คุณค่าอาหารยังเหมือนเดิม

ใช้ทั้งหน่อไม้ป่า, ไผ่รวก, ไผ่เลี้ยง มาอบแห้ง ใส่ถุงซีลในชื่อยี่ห้อ “ไผ่หวาน” ถุงใหญ่ 60 บาท ถุงเล็ก 40 บาท เก็บได้ประมาณ 6 เดือน ไม่ว่าจะนำไปต้ม-ผัด-แกง ก็อร่อย

ส่วนหน่อไม้ต้ม แบบซีลถุง 3 กิโลกรัม ราคา 120 บาท เก็บได้นาน 3 เดือน ถ้าไม่ได้ซีลถุง 1 กิโลกรัม ราคา 30 บาท, บรรจุ 4 กิโลกรัม ราคา 120 บาท และหน่อไม้ดอง ขวดละ 10 บาท

สนใจผลิตภัณฑ์ ติดต่อคุณอาร์ม 09-9395-2563

ตั้งแต่โควิดระบาด ทำให้สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับผลกระทบเต็มๆ

น.ส.ไพรรินทร์ ยานะ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงที่สวนสัตว์ปิดให้บริการ การดูแลสวัสดิภาพสัตว์และการพัฒนาสถานที่โดยรอบสวนสัตว์มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามปกติ แต่งานประชาสัมพันธ์ เบาบางลงไปบ้าง ช่วงโควิด-19 รอบ 3 เมื่อเดือนเม.ย.64 ทางทีมงานจึงปรึกษาหารือกันว่าควรทำกิจกรรมพิเศษในช่วงดังกล่าว

กระทั่งสรุปว่าอยากทำ “กระท้อนน้ำปลาหวาน” และ “กระท้อนลอยแก้ว” ออกขาย เพราะที่บ้านหรือสวนของแต่ละคนมีต้นกระท้อนที่ออกผลตลอด รวมทั้งมีสูตรเด็ดที่มักจะทำกินกันเองเป็นประจำอยู่แล้ว

จึงใช้เวลาช่วงพักกลางวัน หลังเลิกงาน และวันหยุด ช่วยกันทำขายชุดละ 1 ลูก ราคา 30 บาท หรือเฉพาะน้ำปลาหวาน กระปุกขนาด 500 กรัม ราคา 120 บาท ปรากฏว่าผลตอบรับดีและกลุ่มลูกค้าก็ขยายตัวมากขึ้น

ส่วนรายได้เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบ ไม่คิดค่าแรงของเจ้าหน้าที่ กำไรทั้งหมดสมทบทุนดูแลสวัสดิภาพสัตว์ของสวนสัตว์เชียงใหม่

โทร. 05-335-8116, 05-322-1179 ต่อ 176-178

เมธี เมืองแก้ว / ขวัญเพชร โชคบรรดาลสุข
มานิตย์ สนับบุญ / กรรณิกา เทพสนิท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน