สมศ.ประเมินแนวสอนมหา’ลัย – ในช่วงเกือบ 2 ปี วิกฤตที่ถาโถมของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนให้เข้าไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ อีกทั้งยังทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ส่งสัญญาณความห่วงใยถึงทิศทางการปรับตัวของสถาบันการอุดมศึกษาทุกแห่งในประเทศไทย และการปรับตัวของนักศึกษา โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ ที่เอื้อต่อประสิทธิภาพของผู้เรียน ไปจนถึงมาตรฐานและคุณภาพที่ตอบโจทย์กับบริบทโลก
ผศ.ดร.ศศิธร วชิรปัญญาพงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพองค์การ และกิจกรรมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนในยุคดิจิตอล มาตลอดเวลา แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดทำให้มหาวิทยาลัยมีความตื่นตัว และต้องปรับตัว รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เร็วยิ่งขึ้น ช่วงแรกๆ ของการเรียนออนไลน์ยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก เพราะทั้งอาจารย์ผู้สอน-นักศึกษาต้องปรับตัวกันแบบกะทันหัน โดยสิ่งแรกที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีดำเนินการ คือ การปลดล็อกระเบียบ วิธีการเรียนการสอน รวมไปถึงแนวทางการอนุมัติเกรด ของนักศึกษา เพื่อให้สอดรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เพราะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีข้อกฎหมายกำกับอยู่
ช่วงแรกมหาวิทยาลัยมีการสอนออนไลน์ผ่านทางเฟซบุกไลฟ์ ไลน์วิดีโอคอลเพราะแต่ละคณะ สาขาวิชา และแต่ละชั้นปีอาจารย์จะมีไลน์กลุ่มของนักศึกษาอยู่ แต่ปัญหาที่พบคือ นักศึกษาไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกคน บางคนสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ แต่เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้เข้าถึงการเรียนอย่างทั่วถึงและเป็นไปตามมาตรฐานทางมหาวิทยาลัย ได้มีการซื้อตัวเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้ พร้อมทั้งมีการจับคู่นักศึกษาที่อยู่บ้านใกล้กันให้มาเรียนด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างที่ต้องเรียนออนไลน์
ส่วนการติดตามและประเมินผล ผศ.ดร.ศศิธรกล่าวว่า ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้เราทราบว่าการเรียนออนไลน์ มีข้อดี หรือมีจุดใดที่ต้องปรับเพิ่มเพื่อให้นักศึกษาได้ความรู้เท่ากับการมาเรียนในห้องเรียน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยใช้ศูนย์นวัตกรรมสำหรับติดตามและประเมินผลการเรียนผ่านการทำแบบสอบถาม การประเมินครูผู้สอน และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาระบบต่างๆ และแผนการสอน โดยเฉพาะในรายวิชาที่ต้องเน้นการปฏิบัติ เพราะวิชาเหล่านี้ไม่สามารถสอนผ่านออนไลน์ได้ จึงต้องปรับแผนให้นักศึกษาสลับกันเข้ามาเรียนในห้องแล็บ ส่วนนักศึกษาที่ไม่ได้เข้ามาเรียนในห้องแล็บก็ให้ดูเพื่อนๆ ผ่านออนไลน์ โดยการจัดการในรูปแบบดังกล่าวช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และสามารถเรียนไปพร้อมๆ กันได้
“อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่มีส่วนช่วยให้การเรียนการสอนในระยะนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ ระบบการประเมินไม่ว่าจะเป็นการประเมินทั้งภายในและภายนอก เพราะการประเมินจะทำให้มหาวิทยาลัยรู้ถึงจุดดี จุดเด่น และจุดที่ต้องปรับปรุงในระหว่างที่มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือแม้แต่ช่วงที่สถานการณ์ปกติ เพื่อให้คุณภาพในด้านต่างๆ ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.ศศิธรกล่าวสรุป
ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า เบื้องต้น สมศ. ได้มีการกำหนดรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับอุดมศึกษาไว้เป็นที่เรียบร้อย หากสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) และ ตารางข้อมูลเบื้องต้น (CDS) ย้อนหลัง 3 ปี มายัง สมศ. ได้จนถึงวันที่ 3 ต.ค.2564 เพื่อที่สมศ. จะได้เตรียมการประเมินในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป
ด้านแนวทางการประเมินภายนอกในระดับอุดมศึกษานั้นได้กำหนดไว้ 2 ขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 เป็นการประเมินแบบวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง (Pre-analysis) และขั้นตอนที่ 2 เป็นการประเมินแบบลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ในรูปแบบออนไลน์ ร่วมกับการลงพื้นที่จริงไม่เกิน 1-3 วัน โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้ารับการประเมินทั้ง 2 ขั้นตอนจึงจะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.ไป