อยากขึ้นเขา เฝ้านกเงือก – งานวิจัยที่ทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและเห็นผลชัดเจนโครงการหนึ่งคือโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ซึ่งเริ่มต้น โดยมารดาแห่งนกเงือก ศ.เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มแรกที่เขาใหญ่และขยายพื้นที่ลงไปยังสามจังหวัดชายแดนใต้

ความยั่งยืนของโครงการทางภาคใต้อยู่ที่ความร่วมมือของชาวบ้านหลายหมู่บ้านรอบเทือกเขาบูโดในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ผลจากงานวิจัยโดยมีชาวบ้านเป็นผู้ช่วยนำมาใช้เป็นแนวทางดูแลรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก ช่วยให้นกเงือกหลายสายพันธุ์มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรในป่า นับจากวันแรกถึงปัจจุบันมีนกเงือกเกิดใหม่เพิ่มมากกว่า 600 ตัว (ข้อมูล ณ ปี 2563)

ปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยที่ประจำในพื้นที่มานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า “เรามีชาวบ้านรอบเขาเป็นแนวร่วมมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ตอนนี้มาถึงรุ่นหลานแล้ว เป็นรุ่นที่สามที่มาสานต่อ เด็กๆ รุ่นนี้เป็นความหวังของเรา งานวิจัยในพื้นที่วันหนึ่งอาจจบลง แต่ชาวบ้านต้องดูแลทรัพยากรของเขาต่อไป”

เด็กๆ รุ่นที่สามมีทั้งวัยประถมและมัธยม แต่ละคนล้วนอยากขึ้นเขา สิ่งแรกที่ทำให้อยากขึ้นเขาทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากไปดูนกเงือก แต่เมื่อได้ขึ้นเขาแล้วได้เห็นนกเงือกตัวเป็นๆ ด้วยตาตัวเอง สิ่งที่ตามมาและค่อยๆ ซึมซาบลงไปในใจคือความรัก ความหวง ความห่วง ที่มีต่อเพื่อนมีปีกเหล่านั้น

เด็กๆ มักได้รับอนุญาตให้ติดตามนักวิจัยและชาวบ้านขึ้นเขาเก็บข้อมูลนกเงือกเป็นครั้งคราว แต่ในช่วงที่โรงเรียนหยุดยาวเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีโอกาสขึ้นเขาบ่อยครั้งขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องนกเงือก อย่างต่อเนื่อง แต่ละครั้งที่ได้พบก็มีเรื่องติดตาตรึงใจจนอยากจะเรียนรู้ต่อเรื่อยไป

ด.ช.มูฮำหมัดฟัดรูล สะแลแม ยอมรับว่าเหนื่อยแต่ก็ยังอยากขึ้นเขา เพราะ “ชอบนกเงือก อยากเห็นว่าพ่อนกหาอาหารมาเลี้ยงลูกกับตัวเมียอย่างไร” ส่วน ด.ช.อับดุลเลาะห์ โต๊ะมิง เคยขึ้นเขามาช่วยซ่อมแซมโพรงรังในปีพ.ศ.2561 และปีนี้มีนกเงือก มาใช้บริการ ทำให้อับดุลเลาะห์ภูมิใจมาก “นกที่มาเข้ารังเป็นนกเงือกหัวแรด เห็นตัวผู้มาป้อนตอนเช้าประมาณเก้าโมง” เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าเพราะได้เรียนรู้จากของจริงและไม่มีวันลืมได้เลย

ทางเดินป่าไม่สะดวกสบาย อากาศร้อนชื้นเหนื่อยหอบทุกย่างก้าว ขาขึ้นไปก็เหนื่อย ขาลงก็เหนื่อย แต่ทุกครั้งเด็กๆ กลับลงมาพร้อมความเบิกบานในหัวใจและความหวัง

โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกทำงานร่วมกับชาวบ้านมาเป็นเวลายาวนาน ได้ผลดีมาก เรียกว่าทำงานต่อเนื่องกันมาหลายรุ่นแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่มาจนถึงรุ่นคุณพ่อ ตอนนี้เด็กๆ รุ่นสามหลายคนสนใจอยากขึ้นเขา เป็นโอกาสดีที่จะได้บ่มเพาะนักอนุรักษ์รุ่นต่อๆ ไป

เด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ รู้จักนกเงือกไปเรื่อยๆ

สรุปว่าที่อยากขึ้นเขา มีเหตุผลที่คล้ายๆ กัน

ด.ช.อับดุลเลาะห์บอกว่า “อยากขึ้นเขาไปเฝ้านก ช่วยซ่อมโพรงรังอื่นๆ อีก”

ส่วนเหตุผลของด.ช.มูฮำหมัดฟัดรูลนั้นตรงไปตรงมา “ขึ้นเขามันสนุก นกเงือกก็สวย อยากรู้นกมาป้อนตัวเมียอย่างไร กินอะไรบ้าง ดูไม่เคยเบื่อ”

เรื่องราวระหว่างทาง เส้นทางการเติบโตของเด็กรักนกเงือกเทือกเขาบูโด เหนื่อย สนุก ตื่นใจแค่ไหน ทุ่งแสงตะวัน ตอน อยากขึ้นเขาพร้อมแล้วเสาร์นี้ 7 สิงหาคม 2564 ติดตามชมทางเพจทุ่งแสงตะวัน 07.30 น. และช่อง 3 กด 33 เช้าๆ 05.05 น.

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน