‘โดรน’เทคโนโลยีติดปีก พลิกวงการเกษตรไทย – โดรน หมายถึงยานปลอดมนุษย์โดยสารแต่ถูกบังคับโดยมนุษย์ทางวิทยุหรือ โดยระบบอัตโนมัติ มีทั้งโดรนบนบก โดรนใต้น้ำ และโดรนอากาศ

เมื่อพูดถึงโดรน ใครหลายๆ คนอาจกำลังคิดถึงโดรนถ่ายภาพ แต่โดรนอีกประเภทที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือโดรนสำหรับการเกษตรซึ่งหลากหลายประเทศ ทั่วโลกต่างก็นำเทคโนโลยีชนิดนี้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตัวเอง

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นอีกประเทศ ที่มีจุดเด่นทางด้านเกษตรกรรม เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งควรให้ความสนใจและศึกษาหาความรู้ในเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่ บทความนี้จึงชวนคุณมาสำรวจโดรนตัวนี้กัน

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากเกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 1,100 ล้านบาทในปี 2560 และจะสามารถลดต้นทุนการผลิต ได้กว่า 6,000 ล้านบาทในปี 2564

อีกทั้งปัจจุบัน แรงงานไทยในภาคการเกษตรกำลังเผชิญปัญหาแรงงานผู้สูงอายุ ขาดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงาน ทำให้มีแรงงานไม่เพียงพอต่อกระบวนการผลิต หากมีโดรนเข้ามาก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของเกษตรกรได้มาก

“โดรนสำหรับการเกษตร” จึงเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าจับตา เพราะสามารถเข้ามาช่วยจัดการพื้นที่ทางการเกษตรได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนเรียกได้ว่าเข้ามาพลิกวิถีการทำการเกษตรได้เลยทีเดียว ส่วนจะเข้ามาพลิกในมิติอะไรบ้าง มาศึกษาไปพร้อมกัน

● พลิกวิถีการเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร

– Soil and Field Analysis ระบบเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและวิเคราะห์คุณภาพดิน การทำงานของ โดรนสามารถสร้างแผนที่สามมิติด้วยอินฟราเรด แสดง ผลภาพรวมพื้นที่ทางการเกษตรได้ เพื่อใช้ในการเตรียมดิน และกำหนดพื้นที่ในการเพาะปลูก

● พลิกเทคนิคหว่านเมล็ดรดน้ำและให้ปุ๋ย

– Seed Planting การหว่านเมล็ดพืชด้วยการยิงลงบนดินโดยใช้แรงลมเป็นตัวขับ ลดต้นทุนได้มากกว่า ประหยัดเวลา หว่านได้สม่ำเสมอ และยังสามารถผสมสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชนั้นๆ ระหว่างการหว่านเมล็ดได้ เพื่อให้พืชผลสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ

– Crop Spraying การฉีดพ่นน้ำ ปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความแม่นยำ โดยระบบจะวัดระยะในการพ่นของเหลวสู่พื้นดินด้วยคลื่นอัลตราโซนิกและเลเซอร์เพื่อให้ฉีดในปริมาณที่เหมาะสมต่อพื้นที่ในแต่ละจุด โดยเฉลี่ยวิธีการนี้ทำให้พ่นได้รวดเร็วกว่าเครื่องจักรทั่วไปกว่า 5 เท่า

● พลิกวิธีดูแลพืชผลครบทุกแปลง

– Crop Mapping and Surveying ระบบเซ็นเซอร์และกล้องสำหรับถ่ายภาพโดยใช้ระบบ GPS เพื่อใช้วิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุดได้อย่างทั่วถึงจากภาพมุมสูง ระบบนี้ช่วยเหลือได้มากสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่ใหญ่ มีพื้นที่เยอะ

– Irrigation Monitoring ระบบมอนิเตอร์ที่ใช้ตรวจสอบความชื้นว่ามากหรือน้อยเกินไปด้วยเซ็นเซอร์ความร้อน และอินฟราเรดหากพื้นที่ไหนแห้งเกินไปหรือพืชคาย ความร้อนมาก ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที

– Health Assessment ระบบวิเคราะห์สุขภาพพืช สามารถตรวจสอบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ด้วยการสแกนพืชผลผ่านอินฟราเรด โดยสังเกตได้จากสเปกตรัมของสีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ติดตามพืชผลทางการเกษตรได้สม่ำเสมอ

เกษตรกรหลายคนอาจกำลังมีคำถามนี้ อยู่ในใจ แล้วทำไมคนทำการเกษตรถึงควรใช้โดรน ในเมื่อก็มีเครื่องมือที่คุ้นเคยอยู่แล้ว แถมยังต้องลงทุนเพิ่มอีก

จากคุณสมบัติของโดรนที่ได้อธิบายในข้างต้นก็สามารถตอบได้ว่า…

แม้จะต้องใช้เงินลงทุน แต่เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบเดิมแล้ว การใช้โดรนช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ประหยัดเวลา แถมมีความแม่นยำมากกว่า เช่น การหว่านเมล็ดพันธุ์พืชด้วยโดรน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะหว่านได้สม่ำเสมอ เป็นระเบียบกว่า แถมขณะหว่านก็ยังสามารถผสมปุ๋ย ไปได้ด้วย

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่พร้อมลงทุน ซื้อโดรนมาใช้เอง ปัจจุบันในไทยเริ่มมีแพลตฟอร์มให้ใช้บริการโดรนสำหรับการเกษตรกันได้แล้วที่ “เก้าไร่” (https:// gaorai.io/main/) เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรและคนขับโดรน เพื่อเป็นพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายติดต่อหากันได้ โดยทั้งเกษตรกรและคนขับโดรนสามารถแจ้งความต้องการผ่านเว็บไซต์นี้ บริการหลักในเก้าไร่ ให้บริการโดรนในรูปแบบ Crop Spraying หรือระบบฉีดพ่นน้ำ ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากเป็น กระบวนการที่เห็นผลลัพธ์การทำงานได้ชัดเจนและเป็นบริการที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้

หากเกษตรกรท่านไหนสนใจก็เข้าไปใช้บริการได้ ซึ่งเก้าไร่เองก็เป็นอีกสตาร์ตอัพไทยที่มีใจมุ่งมั่นอยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องเกษตรกร และยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้ทัดเทียมต่างชาติ

“เก้าไร่” คือตัวอย่างสตาร์ตอัพด้าน AgTech ที่อยู่ในโครงการ “AgTech Connext” ของ NIA ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมเกษตรกรเข้ากับนักพัฒนานวัตกรรม ให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีหรือบริการที่ตอบโจทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีให้พี่น้องเกษตรกรในอนาคตต่อไป สำหรับใครที่มีไอเดียนวัตกรรมด้าน การเกษตรดีๆ และอยากเป็นส่วนหนึ่งของพลังการเปลี่ยนแปลงวงการเกษตรไทย ติดตามทุกโครงการทุนได้ที่ http://mis.nia.or.th/

ติดตามคอนเทนต์ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https : //www.nia.or.th/article/blog.html

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน