คุมไข้เลือดออกศูนย์พักคอย-ร.พ. – ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 17 ส.ค. จากกรณี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะแนวทางป้องกันยุงลายในโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอย เพื่อป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยไข้เลือดออกซ้ำ เนื่องจากอาจทำให้อาการรุนแรงถึงเสียชีวิต

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ (สนพ.) กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สนพ.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ รณรงค์ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ศูนย์พักคอย และโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนเน้นย้ำ เจ้าหน้าที่ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในสถานที่ปฏิบัติงาน และให้ผู้ป่วยร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณที่พักให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดเก็บขยะ สำรวจภาชนะต่างๆ ไม่ให้มีน้ำขัง รวมถึงชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงพยาบาล

เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบชุมชน ศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลในสังกัด กทม.

นายสุขสันต์กล่าวว่า อาการของโรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันมาก ส่งผลให้ยาก ต่อการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น แต่แยกแยะได้ โดยโรค ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4

ซึ่งมี ยุงลายเป็นพาหะนำโรค มักมีอาการไข้สูงลอยนานประมาณ 2-7 วัน (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา บางรายอาจมีถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือดหากรุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ

ส่วนโรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) แพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก มีอาการไข้ต่ำถึงสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้ง หรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง ท้องเสีย มีในบางราย ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน