กรมชลฯจับมือ‘ชาคริต’ – กรมชลประทานผุดโครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เป็นนวัตกรรม RID GOODS พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร สร้างรายได้ชาวบ้าน ด้วยเมนูสุดชิก สูตรของ “ชาคริต แย้มนาม”

จากการเยียวยาช่วงแรกหลังการสร้างอ่างเก็บน้ำ คลองหลวง รัชชโลทร จ.ชลบุรี สู่การเพิ่มศักยภาพของวัตถุดิบชุมชน เปลี่ยนจากผู้ได้รับผลกระทบให้กลายเป็น ผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ด้วยโครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เป็นนวัตกรรมใหม่ “RID GOODS” โดยกรมชลประทาน

ปีแรกนี้ได้ดาราและเชฟคนดัง ชาคริต แย้มนาม มาร่วมสร้างสรรค์เมนูจากของดีของชุมชนรอบอ่างฯ ทั้ง ปลานิล และสมุนไพรต่างๆ

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า RID GOODS เป็นโครงการพัฒนาวัตถุดิบเชิงสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้ทรัพยากรในแหล่งพื้นที่ชุมชนที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบเดิม โดยมีที่ปรึกษาและวิทยากรผู้ชำนาญการ

ถึงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอุปสรรค แต่ความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน กรมชลประทานจึงทลายข้อจำกัดด้วยการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมออนไลน์เชิงปฏิบัติการ ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM เพื่อลดความเสี่ยง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 โดยมี ชาคริต แย้มนาม เป็นวิทยากรสอนการทำเมนูสุดพิเศษผ่านจอกันสดๆ

“โครงการนี้เริ่มต้นจากการที่เรา ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำฐานทุนที่มีจากอ่างเก็บน้ำมาเพิ่มมูลค่า ตั้งแต่แรก เรามีการส่งเสริมด้วยการปล่อยพันธุ์ปลา โดยเฉพาะปลานิล ปล่อยกุ้งก้ามกราม รอบๆ อ่างเก็บน้ำมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ เรามีแผนเรื่อง ส่งเสริมอาชีพ โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาชุมชน พอชาวบ้านได้รับผลกระทบมา เราจ่ายค่าชดเชยไป ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาจะได้เพื่อดำรงชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราส่งเสริมอาชีพให้ เขาหลายๆ ด้าน

พอมีอ่างเก็บน้ำ หลายคนก็มาทำการเกษตรเพราะมีน้ำใช้ จนเกิดการแปรรูปผลผลิต เช่น น้ำพริกสับปะรด, น้ำจิ้มสับปะรด เขาทำกันออกมาได้ผลดี แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมามีโควิด-19 ระบาด เกษตรกรกลุ่มนี้ที่เราไปส่งเสริมอาชีพก็จำหน่ายสินค้าได้น้อยลง เราก็เลยจัดโครงการ RID GOODS ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการ นำผลผลิตรอบๆ อ่างเก็บน้ำมาเพิ่มมูลค่าและคุณค่ามากยิ่งขึ้น โดยเราเลือกคุณชาคริตมาเป็นวิทยากรเพราะเป็นทั้งพระเอกและเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านอาหาร”

ด้าน ชาคริต แย้มนาม ในฐานะเชฟกิตติมศักดิ์ สร้างสรรค์เมนูพิเศษมาถึง 3 เมนูให้ชาวบ้านได้นำไปต่อยอด เปิดเผยว่า ทั้ง ปลานิลคาราเกะ, ซอสมะขามสามรส และเครื่องดื่มสมุนไพรกระเจี๊ยบอบเชย ล้วนเป็นเมนูที่พัฒนามาจากวัตถุดิบในชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรทั้งสิ้น

อย่าง ปลานิล เป็นพันธุ์ปลาที่มีอยู่เดิมในบริเวณนั้น พอมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ จึงมีการขยายพันธุ์ปลาขึ้นเป็นจำนวนมาก และประชาชนได้นำไปใช้ประโยชน์ทั้งในแง่การบริโภคและการประมง เขาจึงใส่ไอเดีย เปลี่ยนจากเมนูปลานิลธรรมดาอย่างต้ม ผัด แกง ทอด ให้เป็นอาหารสไตล์ฟิวชั่น “คาราเกะ” นอกจากจะทำง่าย รสชาติอร่อย ยังเก็บรักษาได้นาน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้จริง

“ผมดีใจและเป็นเกียรติครับที่ได้มาช่วยสร้างสรรค์เมนูที่แปรรูปปลานิลได้จากชุมชนเกาะจันทร์แห่งนี้ แนวความคิดที่ผมนำมาสร้างสรรค์คืออยากทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้ว ผู้บริโภคที่ซื้อ ไปแล้วเก็บได้นาน แล้วนำมาปรุงสุกหรือ อุ่นร้อนเองได้ ซึ่งก็จะเกี่ยวกับเรื่องการถนอมรักษาอาหารด้วย คือการเก็บแช่แข็งได้ เมื่ออยากกินก็นำมาอุ่นหรือทำให้สุก อีกครั้ง ก็จะปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยครับ ผมคิดให้เข้ากับยุคสมัยนี้ที่โควิด-19 กำลังระบาด และตรงกับคอนเซ็ปต์ของเขยจันท์อยู่ด้วยที่เป็นอาหาร แช่แข็งที่นำมาทำกินร้อนได้ ต้องขอบคุณกรมชลประทานมากครับ ที่ได้นำโครงการดีๆ อย่าง RID GOODS มาให้ผมได้มีส่วนร่วม”

ส่วนเมนูซอสมะขามและเครื่องดื่มสมุนไพรกระเจี๊ยบอบเชย คืออีกสองเมนูสุดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวัตถุดิบท้องถิ่น เนื่องจากการมีอ่างเก็บน้ำทำให้ชาวบ้านจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกร ผลผลิตอย่างมะขาม, กระเจี๊ยบ และอบเชย ก็เป็นของดีที่เขาต้องการนำมาต่อยอด

นางสุรีย์พร ทรายทอก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 ชุมชน เกาะจันทร์ บอกว่า สุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์จากโครงการก็คือชาวบ้านเอง ที่ตอนนี้ได้ประยุกต์สิ่งใหม่ๆ จากวัตถุดิบที่มีอยู่เดิมอีกหลายชนิด

“ตั้งแต่ชุมชนแถวนี้โดนเวนคืนที่ดิน บางคนก็ไม่มีที่ ทำกิน ไม่มีอาชีพ แล้วกรมชลประทานมาดูและช่วยหางบประมาณมาสนับสนุนชาวบ้านให้มีรายได้กัน ในหมู่บ้านเรามีสับปะรดเยอะ แต่เขาอยากให้เราพลิกแพลงเป็นสินค้าแปรรูปอื่น เขาก็เลยจ้างคนมาสอนแปรรูปสับปะรด จนเราได้เป็นน้ำพริกสับปะรดกับน้ำจิ้มสับปะรด จนพวกเราได้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนขายมีรายได้ และเกิดเป็นการรวมกลุ่มแปรรูปสับปะรดชุมชนเกาะจันทร์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนโครงการ RID GOODS เราคิดว่าพอหมด โควิดเราจะได้เอาสินค้าจากการอบรมไปขายที่ตลาดก็น่าจะโอเค เพราะยังไม่มีใครเคยทำ ปกติเราจะเห็นแค่ปลาทอด ปลาราดพริก พอเป็นปลานิลคาราเกะ ก็เป็นของแปลกใหม่ของชุมชนเรา พวกเราก็ได้ความรู้ใหม่ๆ เรื่องการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากคุณชาคริต”

สําหรับการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านผู้ที่ได้รับ ผล กระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ คลองหลวงรัชชโลทร นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการอ่างเก็บน้ำ คลองหลวงรัชชโลทร อธิบายว่า กรมชล ประทานได้ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2553 ไปจนถึงปี 2569 ระยะเวลารวม 17 ปี

โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชนจังหวัด, พัฒนาชุมชนอำเภอ, สำนักงานเกษตรอำเภอ, สำนักงานเกษตรจังหวัด, สำนักงานประมงจังหวัดชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้อย่างรอบด้าน

การดำเนินการโดย วิธีเผยแพร่ จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำการเกษตรกรแบบผสมผสานให้แก่เกษตรกรและสนับสนุนปัจจัยผลผลิตให้แก่เกษตรกรสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำต้นแบบ ส่งเสริมและสนับสนุนให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีการจัดเวทีในระดับหมู่บ้านเพื่อได้พูดคุยและวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร

ด้วยแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ได้รับผล กระทบได้มีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการส่งเสริม พัฒนาอาชีพ ได้เรียนรู้และมีอาชีพสามารถสร้างรายได้เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

“กรมชลประทานเล็งเห็นความสำคัญ ได้บริหารจัดการน้ำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้มีน้ำสนับสนุนในด้านเกษตรกรรมและประมง เพียงพอ ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นทำให้รายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงในอาชีพ อาทิ การจับสัตว์น้ำ จับปลาในอ่างฯ สูงสุด 7-8 ตันต่อวันเลยทีเดียว มีธุรกิจแพปลา การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งปลา แดดเดียว ปลาร้า ปลาหมัก ปลาส้ม ซึ่งปลาในอ่างนี้ส่วนมากเป็นปลานิล นอกจากนี้เรายังสร้างผลผลิตใหม่ๆ เนื่องจากแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ทำให้มีอาชีพต่างๆ ได้ เช่น กลุ่มแปรรูปสับปะรด กลุ่มปลูกมะนาว กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างฯ

โครงการ RID GOODS เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต่อยอดมาจากการเยียวยาผลกระทบของการสร้างอ่างเก็บน้ำ จากเดิมที่ชาวบ้านเคยไปซื้ออาหารเข้ามาในราคาแพง ปัจจุบันก็ผลิตได้เอง เมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็มีผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้น ทั้งสำหรับรับประทานเองและมีเหลือก็นำไปขาย รายได้แต่ละปีทำให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ถ้าดู GDP ของชุมชนเกาะจันทร์ หลังจากมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ พบว่าในปี 2561 มี GDP สูงกว่าเดิม 2-3 เท่า”

สุดท้ายนายมหิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพียงแค่อยากให้ชาวบ้านได้เอาวัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้ จากการพัฒนาโครงการ มานำเสนอแล้วสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่เกษตรกรที่อยู่บริเวณโครงการได้มีรายได้มากขึ้น ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบนี้ ผมว่าการจำหน่ายอาหารเป็นอาชีพก็ยังคงทำรายได้ดีอยู่ ถ้าเรามีช่องทางการพัฒนาของดีในชุมชน เพิ่มมูลค่า และต่อยอด อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผู้สนใจติดตามการอบรมออนไลน์เชิงปฏิบัติการ ย้อนหลัง ได้ที่ช่องทาง YouTube : กรมชล RID

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน