เกษตรกรท่าตะเกียบ สู่เป้าหมาย‘หมู่บ้าน อยู่เย็น’ – วันก่อน น.ส.รัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เชิญนักข่าวไปเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ที่เป็นนโยบายของกรมการปกครอง เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในโครงการ “หมู่บ้าน อยู่เย็น” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อาทิ โครงการโคก หนอง นา โมเดลกิจกรรมภายในครัวเรือนต้นแบบ ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

รวมทั้งการรวมตัวกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ อ.ท่าตะเกียบ ซึ่งแม้จะต้องเจอภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ เหล่านี้ก็สามารถยืนอยู่ได้อย่าง ไม่ลำบากมากนัก เพราะมีพืช ผัก ผลไม้ มีไข่ มีปลา ไว้บริโภค ที่เหลือก็ขาย

สำหรับกิจกรรมภายในครัวเรือนต้นแบบ ไปเยี่ยมชมบ้าน นางสา สมนาค อายุ 49 ปี อยู่บ้านเนินน้อย หมู่ที่ 20 ต.ท่าตะเกียบในเนื้อที่ 1 ไร่ นอกจากจะปลูกพืชผักสวนครัวผลไม้ และทำปุ๋ยชีวภาพใช้เองแล้ว ยังเลี้ยงไก่เลี้ยงจิ้งหรีด ทำให้มีรายได้ทุกวัน ถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะแม้สามีจะประสบอุบัติเหตุป่วยติดเตียงมากว่า 20 ปี แต่เธอและลูกชายสองคนยังช่วยดูแล และทำการเกษตรเพื่อหาเลี้ยงชีพไปด้วย

นอกจากนี้ผลผลิตอะไรที่เหลือกินก็นำไปขาย ในเพจของหมู่บ้าน “ชุมชนท่องเที่ยว Otop นวัตวิถี บ้านเนินน้อย อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา” อย่างเช่นไข่ไก่ เก็บขายได้วันละอย่างน้อย 60 ฟอง ขายแผงละ 90 บาท

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เคยเสด็จมายังบ้านหลังนี้ และทรงบอกให้นางสาสู้ๆ พร้อมทรงเดินดูต้นหมากรากไม้และทรงชื่นชมว่าทำได้ดีมาก

ตรงพื้นที่บ้านเนินน้อย หมู่ที่ 20 นี้ น่าสนใจตรงที่ว่าบรรดาแม่บ้านทั้งหลายยังทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า และย่าม ไว้ขายด้วย โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านบ้านเนินน้อย และถ้าบ้านไหนมีผลผลิตอะไรก็นำมาวางขายได้ที่ศาลากลางในหมู่บ้านนั่นเอง ซึ่งเปิดขายทุกวันพุธ

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมบ้านนี้ทอผ้าด้วย สอบถามได้ความว่าบรรดาแม่ๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากอีสาน โดยเฉพาะที่จ.สุรินทร์ ซึ่งล้วนทอผ้าเป็นกันอยู่แล้ว เมื่อได้รับความสนับสนุนจากหน่วยราชการ จึงได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มทอผ้าและตัดเย็บด้วย เวลามีงานที่ไหนทางจังหวัดทางอำเภอจะชวนไปออกบูธ

จากนั้นไปกันที่บ้านของ น.ส.จุฑามาศ ทับทอง อายุ 42 ปี อยู่ที่บ้านใน ต.คลองตะเกราก่อนหน้านี้เธอเป็นสาวโรงงานอยู่ที่ จ.ชลบุรีพอปี 2562 ลาออกมาอยู่ที่บ้านเพราะแม่ป่วย

ถ้าใครได้คุยกับสาวผิวเข้มรายนี้จะรับรู้ได้ว่าแม้จบแค่ป.6 แต่วิธีคิดไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เธอบอกสาเหตุที่ปลูกผักสลัดเพราะต้องทำให้แตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีมูลค่าเป็นที่ต้องการของผู้รักสุขภาพทั้งหลาย

การปลูกผักของเธอมีจุดเด่นตรงที่เธอปลูกผักสลัดประเภทต่างๆ ทั้งผักคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโอ๊ก และเรดโอ๊ก ฯลฯ รวมทั้งเลี้ยงไส้เดือนด้วย เพื่อนำมูลมาใส่ในแปลงผัก โดยขอพ่อทำในเนื้อที่ 2 งาน เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ ขายกิโลกรัม (ก.ก.) ละ 100 บาท ปรากฏว่าลูกค้า ชื่นชอบ ซึ่งขายในเพจด้วย ส่วนที่เหลือก็ส่งขายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสาร พิษอ.ท่าตะเกียบ นอกจากนี้ยังเพาะกล้าขายให้เพื่อนๆ นำไปปลูกเองด้วย เดือนหนึ่งๆ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1หมื่นบาท

จุดสุดท้ายคณะไปกันที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ อ.ท่าตะเกียบ ที่มี นางบุญโฮม บุญสนิท เป็นประธาน ซึ่งเป็นจุดที่บรรรดาสมาชิกนำผลผลิตมารวมกัน เพื่อส่งไปขายตามจุดต่างๆ ใน จ.ฉะเชิงทรา

ความจริงก่อนหน้านี้เกษตรกรส่วนหนึ่งรวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรไปขายศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทราและที่สนามกีฬา จ.ฉะเชิงเทรา ต่อมาเมื่อปี 2558 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้มีสมาชิก 14 คน รวมเนื้อที่ปลูกผักผลไม้ประมาณ 10 ไร่ นางบุญโฮมเล่าวว่า มีสมาชิก 14 ราย

ผลผลิตของกลุ่มมีทั้งผัดสลัด ผักสวนครัว ทั่วไปอย่างผักบุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา ข้าวโพด หรือผักพื้นบ้าน อาทิ ย่านาง มะระขี้นก ผักกูดและผักหวานป่าก็มีให้เลือก ซึ่งลูกค้าของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นขาประจำและเป็นพวกรักสุขภาพโดยเฉพาะโรงพยาบาลท่าตะเกียบจะนำผักของกลุ่มไปทำอาหารให้ผู้ป่วยรับประทาน อีกทั้งกลุ่มขายผลผลิตมานานกว่า 20 ปี ลูกค้าประจำจึงมีค่อนข้างมาก

นอกจากจะปลูกพืชผักสวนครัวแล้ว ยังปลูกทุเรียนหมอนทองในเนื้อที่ 20 ไร่ และขายกิ่งพันธุ์ที่ใช้วิธีเสียบยอดจากต้นทุเรียนพื้นบ้านด้วย ซึ่งปีนี้ได้ผลผลิตดีมากถึง 5 ตัน ขายอยู่ที่ก.ก.ละ 130 บาท รสชาติดีไม่แพ้ทุเรียนจันทบุรี

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งอยู่ตรงที่มีผู้นำที่เสียสละ และมีการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลให้ได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงานอาทิ รางวัลชมเชยโครงการประกวดชุมชนประชารัฐสีชมพู ปี 2559 ของธนาคารออมสิน รวมทั้งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาตลอด

โดยจะระดมทุนจากสมาชิกปีละ 1,000 บาท เพื่อใช้ในการหมุนเวียนผลิตพืชผัก และรับซื้อผลผลิต และปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยมีอัตราการยืมร้อยละ 1 บาท/เดือน ปัจจุบันกลุ่มมีเงินทุน 42,000 บาท หมุนเวียนให้สมาชิกยืมเพื่อลงทุนในการเพาะปลูก

นายสมหมาย ชินนะหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ต.คลองตะเกรา บอกว่า ทางฝ่ายปกครองได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดสารพิษอ.ท่าตะเกียบมาตลอด โดยเฉพาะการดูแลเรื่องแหล่งน้ำทั้งคลองกระแทตที่อยู่กลางหมู่บ้านและได้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่ 11 ไร่ ไว้เพื่อใช้ทำการเกษตร และในปีหน้านี้ทางกรมชลประทานจะมาสร้างฝายกั้นน้ำให้

นับเป็นกลุ่มวิสาหกิจอีกแห่งที่แม้จะเจอวิกฤติโควิด-19 แต่ก็ยังยืนอยู่ได้ เพราะทำแบบครบวงจร ทั้งผลิตเองและขายเอง ที่สำคัญมีลูกค้าขาประจำที่ไว้วางใจคุณภาพผลผลิตของกลุ่ม ซึ่งเป็นเกษตรปลอดภัยได้รับเครื่องหมาย GAP

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน