หัวใจอาสา…คุณริเริ่ม จากองค์กรสู่ระดับชาติ – หัวใจอาสามักจะเกิดจากสังคมบ้าน โรงเรียน องค์กร ไปสู่ระดับประเทศ หลายคนใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้วย “ความเสียสละ” สร้างความสุขให้สังคมน่าอยู่ หลายองค์กรร่วมรณรงค์ให้พนักงานมีหัวใจอาสา สร้างแรงผลักดันที่จะทำให้พนักงานร่วมกันสร้างประโยชน์ให้สังคม

วิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า บริษัทให้ความสำคัญและส่งเสริม ให้พนักงานเป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” ของสังคม จึงได้จัดโครงการจิตอาสา 60 ปี ไทยออยล์ “คุณริเริ่ม… เราเติมเต็ม” เป็นโครงการหนึ่งในกิจกรรมสร้างวัฒนธรรมจิตอาสา เชิญชวนให้พนักงานสร้างสรรค์กิจกรรม ด้วยตนเองเพื่อร่วมบำเพ็ญประโยชน์หรือสร้างการเปลี่ยน แปลงให้แก่ชุมชนและสังคม โดยใช้แรงกายแรงใจ และทรัพยากรของตนเองภายใต้แนวคิด “คุณ…ริเริ่ม”

จากนั้นบริษัทจะร่วมสนับสนุนเป็นเงินบริจาค “…เราเติมเต็ม” เพื่อมอบให้มูลนิธิ 5 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิธรรมรักษ์ (วัดพระบาทน้ำพุ), มูลนิธิวัยวัฒนานิวาส สถานสงเคราะห์คนชราปากน้ำ, มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา, มูลนิธิบ้านครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษ และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการการุณยเวศม์

ปฏิภาณ มีสุขสบาย หรือ โจ อยู่ไทยออยล์ได้เพียง 3 ปี เข้าร่วมเป็นจิตอาสามาแล้ว 2 ครั้งในโครงการใหญ่ๆ ระดับประเทศในเรื่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือระบบโซลาเซลล์ บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.แม่ฮ่องสอน และโรงพยาบาลแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อสร้างผลประหยัดจากการ ใช้ไฟฟ้า กลับมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของโรงพยาบาล ใช้วันเสาร์และอาทิตย์ไปเป็นจิตอาสารับหน้าที่ดูแลในเรื่องเทคนิคการออกแบบและติดตั้ง ส่วนปีนี้เข้าไปช่วยดูเรื่องระบบการตรวจสอบ การติดตั้งของผู้รับเหมาให้กับโรงพยาบาลแหลมฉบัง

ทั้ง 2 โครงการที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสานั้น ใช้ความรู้ที่ได้มาจากการทำงาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม จิตอาสาสร้างประโยชน์คืนให้กับสังคม โครงการต่อไปในช่วงปลายปี จะเข้าไปดูแลโครงการติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ คาดว่าจะเป็นที่ อ.อมก๋อย จ.แม่ฮ่องสอน

ด้านดำรงศักดิ์ ยืนยาว หรือ ยาว ใช้เวลาว่างช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไปเป็นนักจิตวิทยาจิตอาสาช่วยเหลือสังคม จุดเริ่มต้นมาจากตอน ที่เรียนต่อปริญญาโท คณะจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ฟังเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่แม่ให้พ่อข่มขืนลูกตัวเองนาน 3 ปี ถึงแม้จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่มี นักจิตวิทยาเข้าไปดูแลในเรื่องจิตใจที่บอบช้ำ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็นจิตอาสาด้านจิตวิทยา

ปัจจุบันได้เป็นนักจิตวิทยาอาสาของผู้ป่วยในแผนกผู้ติดเชื้อ โรคเอดส์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา งาน จิตอาสาแบบนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษามีปัญหาด้านความคิด และอารมณ์ ส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกผิด มีปมที่จิตใจ ต้องเจาะลึกและเข้าใจเรื่องที่เป็นปมของเขา ทุกคนจะแก้ปัญหาของตัวเอง เลือกเอง เราไม่มีส่วนตัดสินใจแทนเขา แค่ไปสร้างสัมพันธภาพความเข้าใจและรับฟังปัญหา แต่ความยากของงานจิตอาสาแบบนี้คือผู้ป่วยอาจไม่เล่าความจริง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้

นอกจากนี้ ยังเข้าไปเป็นนักจิตวิทยาอาสาที่ศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด โรงพยาบาล แหลมฉบัง ช่วยเหลือเรื่องเด็กติดยา 70% ของ ผู้ติดยาที่ถูกบำบัดแล้วมักกลับมารักษาอีกครั้ง จึงต้องทำให้เด็กเหล่านี้ไม่กลับมาบำบัดอีก สิ่งที่ได้จากการเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ทำให้เรารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น

การที่ได้เข้าร่วมโครงการคุณริเริ่มเรา เติมเต็ม เพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น มาเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเพิ่มมากขึ้น โครงการนี้ ไม่ได้จบที่ทำความดี แต่เป็นการปลูกฝังการทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นได้ในทุกๆ เรื่อง

“การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่เคย ผิดพลาดและอยากได้โอกาส ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนเหล่านั้นเห็นค่าในตนเอง เมื่อพวกเขาเห็นคุณค่าในตนเอง จะทำให้พวกเขาสร้างโอกาสในการพึ่งพาตนเองได้ และเมื่อพวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะทำให้สังคมและประเทศชาติเข้มแข็งได้ด้วย”

วศินี ชูแสง หรือ ทราย เป็นจิตอาสากู้ภัย สังกัดมูลนิธิสว่างประทีปของศรีราชา ทำมาเกือบ 10 ปี ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำในช่วงเวลาเลิกงานไปจนถึงเที่ยงคืน และในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำเป็นประจำต่อเนื่อง แรงบันดาลใจเกิดจากตามรุ่นพี่ไปช่วยงานกู้ภัย ไปเจอผู้ประสบอุบัติเหตุสลบ ปลุกไม่ฟื้น ญาติเข้ามาอ้อนวอนให้ช่วยชีวิตอย่างน่าสงสาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจว่าต้องเป็น จิตอาสากู้ภัยอย่างจริงจัง และศึกษาเรื่อง การช่วยเหลือ การช่วยชีวิตคนต้องเร่งรีบ เพื่อลดการสูญเสีย

โดยไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตั้งแต่หลักสูตร EMT (Emergency Medical Technician) สำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และอาสาสมัคร (อาสากู้ชีพ) และหลักสูตร ปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนพร้อมบัตรอนุญาตจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทุกหลักสูตรที่เรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดทั้งค่าเรียน และค่าเดินทาง เพราะต้องเดินทางไปเรียนที่ จ.จันทบุรี

การเป็นอาสากู้ภัยถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ทำงานแล้วมีความสุข ประกอบกับที่ศรีราชามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวัน การช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและรวดเร็วจะลดการสูญเสียที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ที่เข้าไปช่วยเหลือจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน คลอดลูกฉุกเฉิน อาสากู้ภัยจะช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนส่งต่อแพทย์ คิดว่าจะเป็นจิตอาสากู้ภัยต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามีลูกก็จะพาเขาไปช่วยเหลือสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

กิจกรรมจิตอาสาเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างความสุขให้สังคมอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน