‘กีวี’แนะเทคนิคไม่เบื่อเรียนออนไลน์ – ช่วงนี้น้องๆ นักเรียนต้องเรียนออนไลน์กันทั้งวันยาวๆ กันไปอีกระยะ เพราะด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจทำให้หลายคนเบื่อไม่อยากนั่งเรียนอยู่กับหน้าจอทั้งวัน ในช่วงแรกๆ อาจต้องมีการปรับตัวกันอยู่บ้าง เพื่อให้การเรียนการสอนออนไลน์ประสบความสำเร็จและไม่น่าเบื่อ ส่งผลให้การเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี

อาจารย์เอริน่า ฮันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบผสมผสานผ่านระบบออนไลน์ (Online Blended English Language Programmes Coordinator) จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ให้คำแนะนำว่า การสอนออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

หากครูสอนภาษาอังกฤษได้มีโอกาสเปิดสอนชั้นเรียนออนไลน์ การควบคุมระยะเวลาในการสอนชั้นเรียนออนไลน์ควรไม่เกิน 50 นาที เพราะช่วงระยะเวลาเท่านี้ ผู้เรียนยังมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนภาษาอยู่ และต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เช่น ปิดเสียงไมโครโฟนเสมอตลอดการเรียนการสอน ยกเว้นต้องการจะพูด เปิดวิดีโอ นั่ง และแต่งตัวเหมือนอยู่ในห้องเรียน (ไม่ได้อยู่บนเตียง) เปิดหน้าจอให้เห็นหน้าของผู้พูด

สำหรับตัวครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดคุย และ มีโอกาสที่ได้ถาม-ตอบอย่างเท่าเทียมกันทุกคน หากครูท่านใดใช้ แอพพลิเคชั่น “Zoom” ฟังก์ชัน “การสำรวจ (Poll)” มีประโยชน์มากในการที่ครูจะประเมินว่านักเรียนสามารถจัดการกับเนื้อหาได้อย่างไรหรือรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้การเปลี่ยนวิธีการนำเสนอบทเรียนบนชั้นเรียนออนไลน์ด้วยการใช้คลิปวิดีโอแทน หรือการทำงานกลุ่ม ทำแบบทดสอบร่วมกันทั้งชั้นเรียนจะช่วยให้ชั้นเรียนมีการเคลื่อนไหว ไม่นั่งนิ่งน่าเบื่อ

อาจารย์ฮันต์ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากการเก็บข้อมูล ค้นคว้า และศึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมสอนภาษาอังกฤษออนไลน์แบบผสมผสาน พบว่า ระยะเวลาเหมาะสมในการเรียนภาษาอังกฤษ โดยผู้เรียนมีความกระตือรือร้นเสมอในการเรียนรู้และไม่ลืมบทเรียนเก่า คือ การเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

“มีอาจารย์ท่านหนึ่งให้ความคิดเห็นแนะนำข้อควรปรับปรุงทักษะภาษาอังกฤษด้านต่างๆ สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการเรียนออนไลน์แบบเห็นหน้าผู้สอนและผู้เรียน สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การทำเช่นนี้นานมากกว่า 16 สัปดาห์ พบว่า ผู้เรียนภาษาอังกฤษมีพัฒนาการทางด้านภาษาในทุกทักษะ ตลอดจนระดับความมั่นใจในการใช้ภาษาที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

แต่ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของแต่ละคน ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงจูงใจที่ทำให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ภาษานั้นๆ ความมีวินัยต่อตนเองของนักเรียน และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย” อาจารย์ฮันต์กล่าวในที่สุด

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ได้ที่ www.studyinnewzealand.govt.nz

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน