‘ศิริราช’ชวนฟังเสวนามะเร็งโรคเลือด-บริจาคโลหิต – เดือนกันยายนของทุกๆ ปีนับเป็นเดือนแห่งการรณรงค์การตระหนักรู้เกี่ยวมะเร็งโรคเลือดชนิดต่างๆ ทางหน่วยงาน มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) กลุ่มชมรมผู้ป่วยโรค MPN แพทย์หน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราช และธนาคารเลือด ร.พ.ศิริราช ร่วมจัดงานเสวนาออนไลน์ ชวนผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงบุคคลทั่วไปเขาร่วมฟัง และพูดคุยกับแพทย์โดยตรง

เพื่อเผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN ในหัวข้อ ‘รู้ทัน! มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN’ ดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงโควิด ทางออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย วันเสาร์ที่ 25 กันยายนนี้ 14.00-15.30 น.

ลงทะเบียนเพื่อถามคำถามคุณหมอ และเข้าใจเกี่ยวกับโรค เพิ่มเติมได้ที่ https://thaicancersociety.com/blood-cancer/

นอกจากนั้นขอเชิญชวนประชาชนไทยร่วมกันบริจาคเลือดเพื่อ ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงภาวะวิกฤตขาดแคลนเลือดในปัจจุบัน

ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล ประธานชมรมโรคเอ็มพีเอ็น (MPN) แห่งประเทศไทย (Thai MPN Working Group) กล่าวถึงความสำคัญที่ต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องของมะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN ว่า มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN คือ ชื่อรวมของมะเร็งโรคเลือดซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือด นำไปสู่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากเกินปกติอย่างรวดเร็ว

แบ่งย่อยเป็น 3 โรคที่พบค่อนข้างบ่อย โดยขึ้นกับชนิดของเซลล์ เม็ดเลือดที่ผิดปกติและอุบัติการณ์ของโรค ได้แก่ 1.โรคเลือดข้น (PV) คือร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ อัตราการตรวจพบผู้ป่วย 2 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี

2.โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) ร่างกายมีการผลิตเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ อัตราการตรวจพบผู้ป่วย 1.5-3 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และ 3.โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) มีการสร้างพังผืดในไขกระดูก ส่งผลให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดงไม่ได้ตามปกติ อัตราการตรวจพบผู้ป่วย 0.4-1.46 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี

อาการที่แสดงของโรคจะแตกต่างกันแม้จะอยู่ในสภาวะโรคเดียวกันอย่างไรก็ตามมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (Fatigue), ซีดจาง (Anemia), คัน (ltching), เหงื่อออกมาก ผิดปกติในตอนกลางคืน (Night sweat) และปวดกระดูก (Bone pain) บางรายอาจมีไข้ และน้ำหนักลด เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน บางรายมีการกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันนอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้องจากม้ามโต (Splenomegaly) จนใช้ชีวิตไม่ได้ตามปกติมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก

นายพสุสันต์ วัฒนบุญญา ผู้ก่อตั้งชมรมผู้ป่วยโรค MPN ประเทศ ไทย กล่าวถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในฐานะผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวว่า เมื่อย้อนกับไปนึกถึงคุณภาพชีวิตช่วง 4-5 ปีแรกที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งยังไม่มียาที่ให้ผลการรักษาที่ดีเหมือนปัจจุบันนี้

ซึ่งในสมัยก่อนมีแต่ยาที่ช่วยลดและควบคุมเม็ดเลือดขาวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังยับยั้งหรือกำจัดเซลล์มะเร็งร้ายไม่ได้ อาการของโรคและผลข้างเคียงของยา ทำให้การใช้ชีวิตส่วนตัว จึงทำงานไม่ได้เต็มที่ เพราะมีอาการปวดหัว เป็นไข้ เหนื่อยล้า เกิดภาวะหัวใจโตอยู่เนืองๆทำให้ต้องลาหยุดบ่อยครั้ง และต้องลาออกจากงานในที่สุด

“แต่ด้วยกำลังใจที่ยอมรับ และคิดบวกเสมอ พร้อมเชื่อในวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้าที่จะให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ บวกกับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จนปัจจุบันอยู่มาถึง 23 ปี จากที่ตอนแรกคาดว่าอาจจะต้องเสียชีวิตภายใน 3-5 ปีที่เกิดโรค

การได้รับฟังข้อมูลที่ถูกต้อง และได้ปรึกษา ถามคำถามได้โดยตรงจากอาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญโรค MPN ถือ เป็นโอกาสที่ดี ซึ่งผมเองก็จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเลือดชนิด CML ซึ่งจะมาพูดถึงการสร้าง กำลังใจ จึงอยากเชิญชวน ร่วมฟังงานเสวนาพิเศษในครั้งนี้” นายพสุสันต์กล่าว

น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) กล่าวว่า อดีตเป็นผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายและเข้ารับการรักษาเป็นเวลา 4 ปี จำเป็นต้องได้รับเลือดและเกล็ดเลือดทุกเดือน เดือนละ 3-4 ถุง การที่มีคนมาบริจาคเลือดนอกจากทำให้ผู้ป่วยมีความหวังในการรักษา ยังต่อชีวิตให้ผู้ป่วยได้ ทันทีด้วย หากไม่ได้รับเลือดจากผู้บริจาคในวันนั้นคงไม่รอดจนถึง ทุกวันนี้

น.พ.อาจรบ คูหาภินันทน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งทางระบบโลหิตหรือมะเร็ง ทางเลือด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก มักมีอาการเหนื่อยเพลีย หรือเลือดออกจากระบบการสร้างในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้สร้างเลือดได้น้อย ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวที่ปกติ หรือเกล็ดเลือด

อีกทั้งระหว่างการรักษาระบบการสร้างเลือดก็ถูกรบกวนหรือยับยั้งจากยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษา จึงมีความจำเป็นต้อง ได้รับเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดจำนวนมาก การบริจาคเลือดให้ผู้ป่วย กลุ่มนี้จึงถือว่าเป็นการทำมหากุศลต่อชีวิตให้แก่ผู้ป่วย

ผู้ประสงค์บริจาคเลือดจองคิวผ่านทาง Siriraj Connect Application เพื่อนัดหมายวัน-เวลาบริจาคเลือด เพื่อจำกัดคนในแต่ละรอบของการรับบริจาคดาวน์โหลดได้ทั้ง App Store และ Google Play หรือพิมพ์ @sirirajconnect กดเพิ่มเป็นเพื่อนบนแอพพลิเคชั่น LINE

ธนาคารเลือด โรงพยาบาลศิริราชได้เปิดจุดบริจาคเลือดจุดใหม่ ที่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 3 เพื่อจัดสรรพื้นที่แยกสัดส่วนจากการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นๆ

สอบถามติดต่อ ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 3 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โทร.0-2414-0102 หรือ 0-2414-0104

หรือเข้าเว็บไซต์ https://thaicancersociety.com/blood-cancer/ หรือได้ที่ทาง FB Page : Thai cancer society มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน