คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

พ.ร.บ.อุ้มหาย

การผลักดันให้ประเทศไทยมีพ.ร.บ.อุ้มหาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย ก้าวหน้าเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในที่สุด

หลังจากได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงพรรครัฐบาลด้วย

กลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนหวังว่า จะเป็นจุด เริ่มต้นของการกำจัดวัฒนธรรมการทรมานหรือ อุ้มหายให้หมดไป หลังจากมีหลายคดีแล้วที่เหยื่อและครอบครัวเข้าไม่ถึง

โดยเฉพาะการกำหนดให้นำตัว ผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่มีส่วนสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้รับผิดชอบและรับโทษจากการกระทำร้ายแรง ดังกล่าว

ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติระบุว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดฐานความผิดที่ชัดเจนมากขึ้น และสอบสวนสืบสวนได้อย่างอิสระ

อีกทั้งเป็นมาตรการป้องกันสำคัญว่า การทรมานและการบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญาของประเทศไทย หากกฎหมายผ่านโดยเร็วเท่าใดจะคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกคนได้เร็วเท่านั้น

ด้านบรรดาสมาชิกสภาที่เห็นด้วย ว่าควรมีกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีผู้กำกับโจ้ทรมานผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดด้วยการใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งเป็นคดีสะเทือนขวัญที่มีภาพปรากฏให้คนทั่วไปเห็น

เกิดกระแสเรียกร้องให้มีกระบวนการยุติธรรมไว้จัดการให้ชัดเจน

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สาบสูญ

รัฐบาลไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญา หนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายรองรับ

เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติขานรับแล้ว จึงเป็นส่วนที่บ่งบอกว่า กระบวนการประชา ธิปไตยขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน