เร่งประเมินข้อ‘ดี-ด้อย’เข้าร่วมCPTPP‘กรมเจรจาฯ’ เร่งประเมินข้อดี-ข้อเสียเข้าร่วม CPTPP หลังจากล่าสุดจีนสมัครแล้ว ชี้ประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าสู่ตลาด CPTPP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากการเข้าร่วมของจีนและอังกฤษ มีประชากรรวม 1.9 พันล้านคน แต่ต้องมีมาตรการเยียวยากลุ่มที่ได้ผลกระทบด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวถึงกรณีที่จีนยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รับฝากความตกลง เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา

ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจและจับตามองว่าผลจากการที่จีนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกจะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แต่เมื่อนับรวมจีนจะส่งผลให้จำนวนประชากรในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 1,900 ล้านคน (25% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (30% ของ GDP โลก)

การขยายจำนวนสมาชิก CPTPP รวมจีนและสหราชอาณาจักร ทำให้ไทยต้องประเมินประโยชน์และ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้ตลาด CPTPP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ การปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ขนาดของ CPTPP ยังเล็กกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ และปัจจุบันเป็นความตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดประชากรกว่า 2,300 ล้านคน (30% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)

นางอรมนกล่าวอีกว่า การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีน จะเพิ่มพันธมิตรและขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะ การเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่ม ประเทศ CPTPP จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน ในฐานะเป็นแหล่งวัตถุดิบและฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน