ยก‘แอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง’พัฒนาเด็ก – ศธ. – เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่หอประชุมคุรุสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครู สู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วย กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps”

โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดศธ. ผู้บริหารศธ. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วม

นายวิษณุกล่าวว่า การประกาศนโยบายกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนการเรียนการสอนจาก แพสซีฟ เลิร์นนิ่ง ไปสู่ แอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง ซึ่งจะทำให้เด็กที่เรียนด้วยแอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง มีความรู้จริง รู้ลึก และรู้นาน เพราะทำเองกับมือ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องสร้างตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษาให้ได้ ถือเป็นนิวนอร์มัลชนิดหนึ่งด้านการศึกษา

“การผลักดันเรื่องนี้เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ที่สำคัญสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ให้ปรับการเรียนการสอนอิงมาตรฐานไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ

ดังนั้นหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ จะได้เห็นการต่อยอดขยายผลไปทั่วราชอาณาจักร ดำเนินการเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น การเรียนด้วยแอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้รู้ลึก รู้จริง รู้นานและไม่ค่อยลืม ขณะที่ครู จะเปลี่ยนจากผู้สอนหรือผู้บอกมาเป็นโค้ช คอยแนะนำ แต่เด็กต้องลงมือทำเอง ขอให้เชื่อว่าการใช้แอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง แล้วเด็กจะเก่งขึ้นแน่นอน” นายวิษณุกล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อเป็นโมเดลในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และในราชกิจจานุเบกษา ที่กำหนดให้แก้ปัญหาด้านการศึกษาด้วยวิธีปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และกำหนดให้ปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน ให้ไป สู่การพัฒนาสมรรถนะในยุคใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน