วิสาหกิจฯมะนาวบ้านยอด แหล่งปลูกใหญ่สุดบนดอย – วิสาหกิจชุมชนในบ้านเราจำนวนไม่น้อยกว่าจะประสบความสำเร็จล้วนผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานา โดยเฉพาะปัญหาการรวมกลุ่มและปัญหาการตลาด วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน เป็นอีกแห่งที่กว่าจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงก็เคยล้มลุกคลุกคลานมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ด้วยความสามัคคีและความ เสียสละของสมาชิก ทำให้วันนี้วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด ได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน อาทิ รางวัลรองชนะเลิศ วิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ปี 2562 จากกรมส่งเสริมการเกษตร

ย้อนกลับไปในอดีต ปัญหาอุปสรรคในการปลูกมะนาวไร้เมล็ดพันธุ์ตาฮิติของที่นี่ เกิดจากการไม่รวมกลุ่มกัน ทำให้พ่อค้ากดราคา อีกทั้ง ช่วงฤดูฝนไม่มีใครมารับซื้อ ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯครั้งแรกเมื่อปี 2552 แต่ก็ไปไม่ได้ไกลเนื่องจากคณะกรรมการและสมาชิกไม่มีองค์ความรู้ และไม่มีกฎระเบียบ จึงล้มไป

หลังจากนั้นมาตั้งอีกครั้งในปี 2559 เริ่มด้วยการระดมหุ้น โดยมีสำนักงานเกษตร และสถาบันปิดทองหลังพระฯ เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของกฎระเบียบ และให้องค์ความรู้ในการก่อตั้งกลุ่ม พร้อมทั้งหาตลาดให้ด้วย ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่สยามแม็คโครมาเปิดสาขาใหม่ที่จ.น่าน ทางกลุ่มจึงนำมะนาวไปเสนอขาย จากนั้นทางแม็คโครก็ให้ส่งมะนาวไปที่ศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อย และมหาชัย

ช่วงแรกระดมหุ้นได้แค่ 52,400 กว่าบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะรับซื้อมะนาวของสมาชิก ทางกลุ่มจึงไปขอกู้เงินกองทุนปลูกป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 400,000 บาท มาใช้บริหารจัดการ และใช้คืนหมดในปีแรก

ปัจจุบัน “คุณปัทมพร พิชัย” หรือพี่เกี๋ยงของน้องๆ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด มีสมาชิกทั้งหมด 96 ราย และพื้นที่ปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติ เกือบ 600 ไร่ บางคนปลูก 1-2 ไร่ บางคนปลูกมากสุดถึง 20 ไร่ โดยปลูกแบบเกษตรปลอดภัย ได้รับเครื่องหมาย GAP จุดเด่นของมะนาวกลุ่มนี้ คือเป็นมะนาวที่ไร้เมล็ด มีน้ำเยอะ และเปลือกบาง

คุณปัทมพรเล่าว่า เดิมนั้นชาวบ้านในต.ยอด ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด และมะแขว่นเป็นพืชหลัก แต่พอมะนาวเริ่มมีราคาขึ้นราคาสูงสุดอยู่ที่ก.ก.ละ 70 บาท ชาวบ้านจึงหันมาปลูกมะนาวกันมากขึ้น แต่ช่วงปี 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ราคามะนาวตกต่ำ แต่ยังพอขายได้บ้าง ราคาสูงสุดอยู่ที่ก.ก.ละ 45 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ก.ก.ละ 13 บาท พอมาปีนี้ตลาดไม่มีเลย จากที่เคยได้ก.ก.ละ 7 บาท ตอนนี้เหลือแค่ก.ก.ละบาทกว่าเอง

เธอบอกอีกว่า ส่วนตัวมีพื้นที่ทำกินทั้งหมด 10 ไร่ โดยปลูกพืชหลากหลาย ทั้งมะนาว ทุเรียน มังคุด ต้นโกโก้ หมาก ไผ่ กาแฟโรบัสต้า มะม่วงหิมพานต์ เงาะ อะโวคาโด และกำลังปลูกใหม่คือ ส้มโอและพริกไทยด้วย แต่ปลูกมะนาวเป็นหลัก และยังเพาะกล้าไม้ขาย ทั้งโกโก้ กาแฟ หมาก และผลไม้บ้าง นอกจากนี้ได้เช่าพื้นที่ของน้องสาวเพิ่มอีก 10 ไร่ ปลูกมะนาว มีผลผลิตปีละ 8 พันกว่าก.ก. รวมกับมะนาวของสมาชิกจะได้ปีละประมาณ 2 แสน กว่าก.ก.

ในส่วนแปลงโกโก้มีประมาณ 800 กว่าต้นโดยปลูกแซมในพื้นที่ที่ปลูกมะม่วงโชคอนันต์มะนาว และทุเรียน เพราะโกโก้เป็นไม้ร่มเงา เป็นไม้ชั้นสองเหมือนกาแฟอาราบิก้า ต้องการแสงประมาณ 50-80% (ต้นอ่อนต้องการแสงแดดน้อยกว่า) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการปลูก โดยมีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกอีก พร้อมใช้พื้นที่บริเวณนั้นทำเป็นตลาดชุมชน เพื่อใช้เป็นแหล่งขายปลีก-ขายส่งด้วย

ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มไม่ได้ปลูกแค่มะนาว อย่างเดียว พืชเศรษฐกิจหลักแต่เดิมคือ มะแขว่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นมะแขว่นหอมที่สุดในประเทศไทยและสมาชิกยังปลูกพืชไม้ผลผสมผสานเช่น ส้มโอ เงาะ อะโวคาโด และโกโก้ซึ่งถือเป็นความโชคดีของชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและมูลนิธิปิดทองหลังพระ เข้ามาช่วยระเบิดชุมชนทำให้ได้เรียนรู้และน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในกลุ่ม

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จคือการใช้กฎกติกาตามระเบียบกลุ่มเข้ามาบริหารจัดการ สมาชิกทุกคนคือเจ้าของกลุ่ม เน้นการสร้างความเป็นเจ้าของให้สมาชิกเข้าใจว่าการรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อต่อรองราคากับคู่ค้านอกจากนี้จะเปิดโอกาสสมาชิกทุกคนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเรียนรู้การบริหารการจัดการกลุ่ม และการแก้ปัญหาเวลามะนาวราคาตกต่ำ ทำให้เกิดความรู้รักสามัคคีในกลุ่ม

คุณปัทมพรระบุว่า การปลูกมะนาวยากกว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ หากปลูกแบบทิ้งขว้าง หรือไม่ดูแลทำให้ผลผลิตออกไม่มาก และจะเจอปัญหาโรคหนอนเจาะลำต้น และราสีชมพู ส่งผลให้กิ่งแห้งเหี่ยวเฉาตาย เกษตรกรบางรายจึงหันไปปลูกข้าวโพดกัน ซึ่งในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งประธานกลุ่มเมื่อปี 2563 ก็เจอปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ยังพอขายได้สูงสุดอยู่ที่ก.ก.ละ 45 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 13 บาท แต่ปัจจุบันไม่มีตลาดเลยส่งออกก็ไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าที่เคยรับซื้อหายไปหมดเหลือแค่ขาประจำ (สนใจติดต่อได้ที่ 09-7960-1925)

“จากที่เคยได้ก.ก.ละ 7 บาท ตอนนี้เหลือแค่ก.ก.ละบาทกว่าเอง ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ตลาดซบเซามากเลย ตลาดของกลุ่มก็ มีส่งที่แม็คโคร และที่สุพรรณฯ และสุโขทัยเป็นตลาดที่นำมะนาว ไปคั้นน้ำขาย ผลไม้อื่นๆ อย่างลำไยก็กระทบเหมือนกัน และมีบางช่วงที่ทางบริษัทขนส่งก็ไม่รับ”

อย่างไรก็ตาม ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอดบอกด้วยว่า หลังจากกลุ่มได้รับงบสนับสนุนแปลงใหญ่มะนาวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 ล้านบาท จะนำมาต่อยอดพัฒนาคุณภาพสินค้าและการจัดเก็บสินค้าให้มีระยะอายุยาวขึ้น โดยจะใช้ตู้คอนเทนเนอร์เย็น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลการขนส่ง การเดินทางลำบากมาก จึงน่าจะกักตุนในช่วงมะนาวถูกไว้ในห้องเย็น ซึ่งจะทำให้มีมะนาวขายทั้งปี เพราะในช่วงฤดูแล้งมะนาวขาดแคลน และจะใช้เครื่องล้าง จากเดิมเกษตรกรต้องใช้ผ้าเช็ดถูมะนาวทำความสะอาดมะนาว พร้อมกันนี้จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งจะทำระบบน้ำในแปลงของเกษตรกรด้วย

นับเป็นวิสาหกิจชุมชนอีกแห่งที่ทำครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน