‘ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย’
‘มติชน’ผนึกรัฐ-เอกชนจับมือสู้วิกฤต

รายงานพิเศษ

“การส่งออกยังเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพราะมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยภาพรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีการเติบโตมูลค่ากว่า 1.54 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.20% หรือเติบโตกว่า 4 เท่า และในเดือนมิ.ย. การส่งออกทำนิวไฮในรอบ 11 ปี หรืออยู่ที่ 43.82%”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ปาฐกถาพิเศษ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” ในงานสัมมนาหัวข้อ “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน เข้าสู่ปีที่ 44

ผู้บริหารเครือมติชนและผู้เข้าร่วมสัมมนา

งานนี้มีทั้งภาครัฐบาลและเอกชนยักษ์ใหญ่เข้าร่วมจำนวนมาก โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บริหารเครือมติชน เข้าร่วมฟังการสัมมนา

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนส.ค. มีแนวโน้มลดลงจากพิษล็อกดาวน์ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าการส่งออกจนถึงปลายปีนี้ยังมีแนวโน้มเป็นบวก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

ที่ผ่านมาสั่งกำชับให้ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศทำหน้าที่เป็น เซลส์แมน ประสานกับพาณิชย์จังหวัดในการประสานหาตลาดเพื่อการส่งออกสินค้าไทย ขณะที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็เดินหน้าจัดงานเพื่อโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

มีแผนจะดำเนินการกว่า 200 กว่ากิจกรรมและครึ่งปีหลังอีก อย่างน้อย 130 กิจกรรม

รมว.พาณิชย์กล่าวว่า แม้ยังมีปัจจัยลบหลายปัจจัย เช่น ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งแก้ไขอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังติดขัดเพราะปัญหาเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ทำให้ยังมีปัญหาการขาดแคลนยังมีอยู่เป็นช่วงๆ รวมทั้งปัญหาขาดแคลนกระป๋องเพราะเหล็กในตลาดโลกราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาจนคลี่คลายไปได้

“กระทรวงพาณิชย์หรือภาคราชการ ต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน กฎอะไรที่เป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข ภาครัฐต้องไม่เป็นตัวถ่วงเอกชน เพราะเอกชนมีความเชี่ยวชาญในการส่งออกมากกว่า ภาครัฐต้องไม่ขวางการทำงานของเอกชน”

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เพราะที่ผ่านมาไทยไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจขาเดียว แต่พึ่งพา 2 ขา คือ ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก แม้ตอนที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยภาคการส่งออก และเมื่อภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งเมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถเดินหน้าต่อไป

ส่วนประเด็นสิ่งที่ต้องติดตาม คือ การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะทวีความรุนแรงเข้มข้นและมีรายการเพิ่มขึ้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาจากประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น เป็นที่มาของการตั้งกำแพงใหม่ที่มิใช่ภาษี แต่เป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง เช่น ด้านแรงงานสิทธิมนุษยชน ด้านสุขอนามัย ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กรณีประเทศจีนประกาศจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ต้องติดตาม โลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมืองแล้ว แต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองและแบ่งค่ายกัน เป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยและภาคเอกชนต้องจับมือการติดตามวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด เพื่อทราบว่าเราจะต้องยืนอยู่ที่ไหน กำหนดท่าทีอย่างไร

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ รักษ์ วรกิจโภคาทร

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จดทะเบียนประมาณ 3 ล้านราย นอกสำมะโน อีก 2.7 ล้านราย รวมเกือบ 6 ล้านราย แต่สามารถผันตัวเองไปเป็นผู้ส่งออกเพียง 1%

คิดว่าอาจจะมีอะไรผิดพลาดไป รูปแบบธุรกิจของไทยผิด ไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาไปสู่เวทีโลกได้ ผู้ประกอบการไทยต้องแย่งลูกค้ากันภายในประเทศ รัฐบาลไทยควรต้องสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีช่องทางส่งออกสินค้าได้

ปลายปีนี้ทางเอ็กซิมแบงก์ จะเช่าแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ขนาดใหญ่ให้ผู้ประกอบการไทย โดยไม่ต้องรับภาระค่าแรกเข้าที่สูงเอง นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกต้องปรับตัวให้ตรงจุด

เอกฉัตร ศีตวรรัตน์

ส่วน นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) หรือ DITP กล่าวว่า กรมดำเนินการตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิตเพื่อพลิกวิกฤตโควิด-19” โดยปรับเป็น “3 พ. 1 ป.”

3 พ. คือการพัฒนา 3 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.พัฒนาช่องทางการตลาดในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น 2.พัฒนาเพิ่มมูลค่า เพิ่ม สินค้าด้วยนวัตกรรม ให้อยู่ในรูปแบบนิวนอร์มัล 3.พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ให้ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ โดยสถาบันผู้ประกอบการค้า ยุคใหม่ (NEA) มีหลายหลักสูตร สอนใช้ แอพพลิเคชั่นต่างๆ

ส่วน 1 ป. คือ การประชาสัมพันธ์สินค้า ที่มีความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 มุ่งเน้นความปลอดภัยมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติมีความมั่นใจ

ด้านภาคเอกชน โดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณสมาคมอาหาร แช่เยือกแข็งไทย กล่าว ว่าประเด็นที่น่าจับตามองขณะนี้คือการเข้าร่วมในข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ของไทย ทั้ง CPTPP การเปิดเขตเสรีทางการค้าหรือ เอฟทีเอ ที่ไทยยังไม่มีความคืบหน้าเพราะยังมีการคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ

ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาสูงกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่ไทยเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ลงนามในความตกลงทางการค้ากับแทบทุกประเทศ ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามเสียภาษีน้อยหรือแทบไม่เสียภาษีเลย

ดังนั้นภาครัฐมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่ยังคัดค้าน และต้องมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้ก็คือการที่จีนสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งจะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและหากไทยไม่ร่วมข้อตกลงใดๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยตกขบวน

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า คาดว่าการส่งออกในส่วนของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วง ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะขยายตัวได้อีก 10% หรือ 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการทำนิวไฮจากที่เคยทำได้สูงถึง 2.3 แสนล้านบาทในปี 2562

การัณย์ อังอุบลกุล พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

ส่วน นายการัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด กล่าวว่า กลุ่มของใช้บนโต๊ะอาหารอุตสาหกรรมนี้เติบโตมาตลอดและไตรมาส 4 ก็คาดว่าจะขยายตัวอีกหากไม่มีการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 30%

เอกชนต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น รวมทั้งต้องผลิตและส่งมอบให้ได้ตามที่ลูกค้ากำหนด แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ ความแออัดของท่าเรือก็ยังเป็นปัญหา แต่ภาครัฐได้ช่วยเหลือ ซึ่งมั่นใจว่าคลี่คลายได้ในอนาคต

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่าการที่ภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกกลายเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในยามที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังซบเซาเพราะการระบาดของโควิด-19

ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความหวังว่าจะเติบโต โดยคาดว่าในปีนี้ การส่งออกของประเทศไทยจะเติบโตเป็นเลข 2 หลัก

ข้อมูลจากการจัดสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อช่วยกันผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตมากขึ้น

เป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทย พ้นจากวิกฤตครั้งนี้ ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน