คลังรับต้องกู้เงินเพิ่มฟื้นศก.หลังโควิดแบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยโตล้าหลังกว่าภูมิภาค ยังต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ ขณะที่รมว.คลัง ยอมรับต้องกู้เงินมากกว่าปกติเพราะปัญหาโควิด จึงต้องขยายเพดานเกิน 60%

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2564 ว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะล้าหลัง จากการฟื้นตัวช้ากว่าชาติร่วมภูมิภาค เมื่อมองไปข้างหน้าการทำนโยบายการเงินยังต้องผ่อนคลาย แม้ว่าบริบทเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวปะทุขึ้น

“การทำนโยบายการเงินของไทยไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางหลายประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราเงินเฟ้อ แม้หลายประเทศในโลกอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ของไทยคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในขอบล่างของประมาณการ ไม่เป็นประเด็นเหมือนประเทศอื่นที่เร่งตัวขึ้นเร็ว การฟื้นตัวเศรษฐกิจปีหน้าดีขึ้นแต่ยังไม่รู้ว่าจะดีแค่ไหน ดังนั้นเงื่อนไขในการทำนโยบายการเงินจึงยังมีความแตกต่างกัน”

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2564 โดยคาดว่าในปี 2564 จะขยายตัว 0.7% ขณะที่ปี 2565 ขยายตัวได้ 3.9% แต่การฟื้นตัวก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

สำหรับมาตรการด้านการคลัง ควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยยะสำคัญหากเม็ดเงินนั้นถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะปรับลดลงในระยะยาวได้

ส่วนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงการกู้เงินที่ผ่านมาว่าหลายประเทศใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาล โดยไทยกู้เงินเพื่อแก้ปัญหารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินที่มากกว่าปกติ

ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นจึงจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลหากมีเหตุการณ์ยืดเยื้อต้องใช้เงิน กระทรวงการคลังก็สามารถกู้เงินให้รัฐบาลใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการป้องกัน ระงับการแพร่ระบาดและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน