‘เจลพลังงาน’เนื้อมังคุด – เปิดตัวกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ “โครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่” และ “โครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน” นำโดย นายสัมฤทธิ กองเงิน รองผู้ว่าฯ ชุมพร เป็นประธาน ที่อาคารประชุม วัดราชบุรณะ (วัดนอก) อ.หลังสวน จ.ชุมพร

สองโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. บอกว่า ทั้ง 2 โครงการนับเป็นการสร้างต้นแบบงานวิจัยเชิงพื้นที่ สำหรับการถ่ายทอดระบบการผลิตไปยังชุดการผลิตอื่นได้อีก ช่วยยกระดับขีดความสามารถให้กลุ่มเกษตรกรจ.ชุมพร และยังก่อให้เกิดการจ้างงานกับคนในพื้นที่ หรือนักศึกษาจบใหม่ได้

ขณะที่ รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา หัวหน้าโครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ ให้ข้อมูลว่า ช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรไม่สามารถส่งออกได้ เกิดภาวะล้นตลาด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกันแบบสหวิชาการ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล สถาปัตยกรรม และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อร่วมกันออกแบบชุดโรงงาน พร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ

การสร้างชุดเครื่องจักรตัวต่อให้อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 3-4 ตู้ มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ ประกอบพร้อมใช้งานด้วยมาตรฐานตามข้อกำหนด GMP เคลื่อนที่ไปในชุมชน แหล่งผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถแปรรูปพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในรูปแช่เยือกแข็ง เพื่อเก็บรักษาผลไม้ที่ล้นตลาด รอการแปรรูปต่อไป

ขณะนี้นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่ตอน จ.เชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน ค่าใช้จ่ายทั้งตู้คอนเทนเนอร์ อุปกรณ์แช่แข็ง และอื่นๆ รวมประมาณ 7 ล้านบาท ต่อไปหากพื้นที่ไหนต้องการโรงงานแบบนี้ คงต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างอบจ.หรืออบต.ช่วยสนับสนุนงบประมาณ

ส่วน ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หัวหน้าโครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน อธิบายว่า ได้ออกแบบ 5 ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เนื้อมังคุดแช่แข็งสามารถนำมาแปรรูปได้ตลอดทั้งปี ประกอบด้วย 1.น้ำมังคุดพร้อมดื่ม 2.เจลเพื่อพลังงานจากมังคุด ถือเป็นเจ้าแรกในโลกก็ว่าได้ที่นำผลไม้อย่างมังคุดมาทำเป็นส่วนผสมหลัก ในสัดส่วนมากถึง 30-40% แล้วเติมวิตามินต่างๆ เหมาะสำหรับคนออกกำลังกาย

3.มังคุดสดตัดแต่งพร้อมรับประทาน 4.เครื่องดื่มมังคุดผงชงเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก และ 5.เค้กจากเนื้อสดและผงจากเปลือกมังคุด

นวัตกรรมการผลิตนี้คงคุณภาพของมังคุดสดไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บอกเล่าผ่านประเพณี “แห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง” ของชาวหลังสวน ส่งเสริมให้เป็นของฝากของที่ระลึก สร้างเศรษฐกิจให้กับอ.หลังสวนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจัดจำหน่ายในพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยมิติการเกษตรและการท่องเที่ยวได้

“ปีนี้ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลาเก็บเนื้อมังคุด แช่แข็งไว้ถึง 30 ตัน สามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลายตลอดทั้งปี นอกเหนือจากที่ทำกันแค่น้ำมังคุดหรือมังคุดกวนเท่านั้น ทางสจล.พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดูเป็นตัวอย่าง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับว่าทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา จะดำเนินการผลิตและหาตลาดอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวด้วย”

พูดถึงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบระดับประเทศ ที่รู้จักกันในนาม ‘ท่ามะพลาโมเดล’ จากแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มและการผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออกที่เน้นการผลิตมังคุดคุณภาพ มีสมาชิกทั้งหมด 113 ราย ในเนื้อที่ 700 กว่าไร่ ได้การรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร แบ่งเป็น 5 เกรด คือ มันใหญ่ มันเล็ก มันลาย ดอก และดำ

การจำหน่ายแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.เปิดประมูลให้บริษัทผู้ส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนเข้ามาประมูลในช่วงเวลา 18.30 น. ของทุกวัน ด้วยการยื่นราคาผ่านทางไลน์ มีสัดส่วนการจำหน่ายที่ร้อยละ 90 และ 2.ผ่านตลาดออนไลน์ สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10 ใช้เว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร ผลผลิตมังคุดที่จำหน่ายติด QR Code เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Smart Product ที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า “มังคุดท่ามะพลา กินได้ทุกลูก”

ปัจจุบันมี คุณสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ เป็นประธาน ผู้ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2564 ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับการปลูกมังคุดมานานกว่า 30 ปี โดยในปี 2545 แก้ปัญหามังคุดล้นตลาด-ราคาตก ด้วยการให้พ่อค้าเข้ามาแข่งขันประมูลกัน พร้อมๆ กับการเน้นการปลูกมังคุดคุณภาพ จนทำให้กลุ่มขายได้ราคาสูงกว่าที่อื่นและแม้เกษตรกรที่อื่นจะเจอผลพวงของโรคโควิด-19 แต่ของกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยช่วงต้นฤดูสามารถขายได้ถึงก.ก.ละ 185 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ก.ก. 46 บาท

คุณสิทธิพงษ์แจกแจงว่า การแปรรูปเนื้อมังคุดทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์นั้น เน้นขายตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดสุขภาพ ส่วนในประเทศจะเน้นตลาดบนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งตอนนี้ต้องให้ทางสจล.ช่วยผลิตให้ไปก่อน สำหรับมังคุดหลังสวน จุดเด่นคืออัตลักษณ์ของมังคุด 100 ปี เปลือกบางรสชาติเปรี้ยวอมหวาน แต่หวานนำ ทั้งนี้ ทางกลุ่มจะทำน้ำมังคุดก่อนเป็นอันดับแรก คาดว่าจะขายราคาขวดละประมาณ 300 บาท ขนาด 750 ซีซี เป็นแบบสเตอริไลซ์ สามารถเก็บไว้ได้นาน

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่า 5 ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมังคุด จะออกสู่ตลาดในวงกว้าง และได้รับความนิยมจากลูกค้าไทยและต่างชาติมากน้อยแค่ไหน

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน