โละด่วนบีอาร์ที-เปลี่ยนใช้รถไฟฟ้า – ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่โครงการรถประจำทางด่วนพิเศษ (รถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที) สิ้นสุดสัญญาเดินรถในวันที่ 30 เม.ย.2560 กทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) บริหารจัดการเดินรถเมล์บีอาร์ที สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์

ซึ่งเคทีได้ว่าจ้างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2560 จะสิ้นสุดสัญญาในปี 30 ส.ค.2566 ภายใต้เงื่อนไขว่ากทม.จะไม่สนับสนุนงบประมาณ และยังต้องคงอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

ปัจจุบันสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญา เพื่อปรับปรุงรถเมล์ด่วนพิเศษ บีอาร์ที และสถานี โดยเบื้องต้นจะเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าอีวี (รถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า) จำนวน 25 คัน รวมทั้งปรับปรุงตัวสถานี 12 สถานีทั้งหมดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และร้านกาแฟที่มีความสวยงามและทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ

โดยเปลี่ยนบันไดขึ้น-ลงเป็นการติดตั้งลิฟต์สำหรับรถวีลแชร์ และเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับทุกคน รวมทั้งเปลี่ยนห้องจำหน่ายตั๋ว เป็นการติดตั้งเครื่องจำหน่ายตั๋วหยอดเหรียญอัตโนมัติ โดยที่สถานีช่องนนทรีจะเชื่อมต่อไปยังโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีที่ กทม.ดำเนินการอยู่ด้วย

คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการปรับปรุงดังกล่าว ส่วนรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี อาจนำไปใช้เป็นสวัสดิการข้าราชการ กทม.แทน หรือจำหน่ายออก

นายสกลธีกล่าวว่า โครงการบีอาร์ที เส้นทางช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านบาท และเริ่มเดินรถตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.2553 หลังดำเนินการในระยะหนึ่ง พบว่ากทม.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายปีละ 200 ล้านบาท อีกทั้งพบว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรที่แท้จริง แต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้ประชาชนใน เส้นทางเดินรถเพิ่มเติม ประกอบกับประชาชนใช้บริการทั้งสิ้นเฉลี่ยวันละ 25,000 คน

ส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนที่ได้รับสิทธิ์ใช้บริการฟรีในช่วงเช้า และผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนค่าโดยสาร ทำให้การให้บริการไม่ตรงตาม กลุ่มเป้าหมายและขาดทุนสะสมต่อเนื่อง จึงได้ข้อสรุปว่ายกเลิกโครงการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน