ข้าวหอมใบเตยลำปาง ผลผลิตเกษตรอินทรีย์‘ถอยหลัง’ – เหล่าสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจรหมู่ที่ 4 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง และวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพย์ช้าง บ้านจ๋ำ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร ต่าง ดีอกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ มามอบนวัตกรรมเครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุนให้กับวิสาหกิจ 2 แห่งนี้ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจรหมู่ที่ 4 ต.พิชัย

เครื่องอบแห้งอินฟราเรดฯ ดังกล่าวเป็นผลงานของ รศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช รองผู้จัดการศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความชื้นของข้าวและเมล็ดพันธุ์เกษตร โดยได้ขยายผลไปในพื้นที่ดูแลของกอ.รมน.ใน 4 ภูมิภาค และขณะนี้มีบริษัทเอกชนรับไปผลิตต่อและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศด้วย

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจรหมู่ที่ 4 ต.พิชัย ที่มีคุณแววมณี คล้ายสอน เป็นประธาน เป็นที่รู้จักกันดี ในสังคมเกษตรอินทรีย์เพราะเป็นเจ้าของข้าวหอมใบเตยลำปาง ข้าวกล้อง 5 สี และข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมทั้งน้ำนมข้าวแบรนด์ ‘แววมณี’ มีคุณนที คล้ายสอน หนุ่มวัย 33 ปี ดีกรีปริญญาโทวิศวกรโยธา ยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์จ.ลำปาง ลูกชายที่ตัดสินใจเลิกเป็นมนุษย์เงินเดือนแม้ได้ค่าตอบแทนสูง หันมาช่วยครอบครัวเพราะมองว่าเกษตรอินทรีย์คือความยั่งยืน

ด้วยการต่อยอดพัฒนาวิถีข้าวโบราณหอมกลิ่นใบเตยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันนี้แบรนด์ ‘แววมณี’ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็น อย่างดี เพราะนอกจากวางขายที่ตลาดจริงใจ ที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต จ.ลำปาง และร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ยังขายออนไลน์ในหลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้านานหลายเดือนในราคาก.ก.ละ 80 บาท ในโครงการผูกปิ่นโตข้าว บางคนซื้อกันมานานถึง 3 ปีแล้ว ปีละ 100 ก.ก. รวมทั้งก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งน้ำนมข้าวอินทรีย์ไปขายในต่างประเทศด้วย

คุณแววมณีเล่าว่า กลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ ปี 2556 มีสมาชิก 10 คน และยังมีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อีกเยอะ รวมทั้งกลุ่มผักด้วย กลุ่มยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมาชิกในกลุ่มไม่ใช่มีเกษตรกร แต่มีผู้ที่มีความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องการตลาดและการแปรรูปเพราะการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนนั้นต้องมีองค์ความรู้มากกว่าผลิต เพราะแม้จะทำข้าวที่ดีแต่ขายไม่ได้ก็ไม่ยั่งยืน ส่วนตัวพื้นที่ 80 ไร่ที่อ.เมืองลำปาง ได้เครื่องหมายออร์แกนิก ไทยแลนด์ เน้นข้าวหอมใบเตยลำปางเป็นหลัก หลายปีมานี้ลูกชาย “นที” เข้ามาช่วยบริหารจัดการและทำการตลาด (สนใจโทร.08-9435-4791)

เธอว่าจุดเด่นของกลุ่มคือ นำผลผลิตมาแปรรูปด้วย โดยเฉพาะน้ำนมข้าวที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง ในการทำวิจัยด้วยการนำข้าวระยะพลับพลึงมาทำน้ำนมข้าว ขณะที่เจ้าอื่นทำน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมการค้าภายในส่งเสริมให้ทำในรูปยูเอชทีส่งไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันหยุดผลิตเพราะเจอโรคโควิด-19 และเปลี่ยนสถานที่ผลิต จึงต้องรอขั้นตอนการขอเครื่องหมาย อย.สักพัก อีกอย่างตอนนี้ทางกลุ่มกำลังดำเนินการเรื่องโรงบรรจุภัณฑ์ผัก

สำหรับน้ำนมข้าวทำจากข้าวสองสายพันธุ์คือ ข้าวหอมใบเตยอินทรีย์และข้าวไรซ์เบอร์รี่ อินทรีย์ ที่มีระยะเก็บเกี่ยว 120 วัน หรือที่ เรียกว่า “ระยะพลับพลึง” ขณะที่ข้าวปกติเก็บเกี่ยว 130 วัน ข้าวระยะนี้อุดมไปด้วยวิตามิน โดยดึงกระบวนการย่อยสลายข้าวให้เกิดเป็นความหวาน ใช้เอนไซม์จากธรรมชาติ ดึงความหวานของข้าวออกมา จึงเป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่ไม่มีน้ำตาล รสชาติหวานกลมกล่อม และมีกลิ่นหอมจากธรรมชาติของกลิ่นข้าว

เสียดายวันที่ไปไม่ได้ชิมน้ำนมข้าว แต่ได้กินข้าวหอมใบเตยลำปาง ซึ่งมีกลิ่นหอมมาก เหมือนกลิ่นใบเตย และแม้จะเป็นข้าวกล้องแต่ก็นิ่ม หลายคนเลยซื้อกลับคนละหลายกิโลฯ สีของข้าวเปลือกและเมล็ดข้าวมีสีเขียวอ่อนๆ ว่ากันว่าข้าวหอมใบเตยเหมาะสำหรับทำข้าวต้มที่สุด ด้วยลักษณะเม็ดอวบอ้วน สีขาวเขียว ต้มเสร็จน้ำจะข้นเหนียว

คุณแววมณีให้รายละเอียดข้าวพันธุ์นี้ว่า ปลูกยากกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ เป็นข้าวพันธุ์โบราณในพื้นที่ เริ่มแรกต้องทำเป็นพื้นที่ไร้สารพิษและไร้โรค ถ้าเจอเชื้อโรค เจอปุ๋ย-ยาเคมี จะแห้งตาย เป็นข้าวที่มีความสูง 180-200 ซ.ม. เคยมีคนนำไปปลูกพื้นที่อื่นแล้วไม่สามารถปลูกได้ การปลูกไม่ได้ใช้ปุ๋ยอะไรเลย เป็นลักษณะหมุนเวียนตามธรรมชาติ

“เรียกกันว่า เกษตรอินทรีย์ถอยหลัง คือย้อนไปทำเกษตรเหมือนสมัยปู่ย่าตายายที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเลย ไม่ถอนหญ้า ไม่ฆ่าหอย เน้นทำระบบนิเวศตามแนวธรรมชาติ ไม่ต้องดูแลเรื่องวัชพืชเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่พึ่งพาอาศัยกัน โดยช่วยเป็นตัวพยุงป้องกันไม่ให้ต้นข้าวล้ม หรือถ้าต้นข้าวล้มจะล้มถึงพื้น ตอนปลูกแค่นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่าน จากนั้นควบคุมระดับน้ำ ไม่ต้องให้ข้าวอยู่ในน้ำตลอดเวลา สลับแห้งบ้างเปียกบ้าง ให้ข้าวต้องต่อสู้เพื่ออยู่รอด ถ้าทำช่วงแรกต้องทำสภาพดินให้สมบูรณ์ด้วยการปลูกถั่วแล้วไถกลบ”

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจรหมู่ที่ 4 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นอีกกลุ่มที่มีสินค้าโดดเด่น และทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน