‘แบงก์ชาติ-เอกชน’ร่วมวิเคราะห์
ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

รายงานพิเศษ

แม้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์- การเงิน เศรษฐกิจไทยจะเดินไป ทางไหน และมีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่น่า กังวลบ้าง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า 40 ปีผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้ายๆ เดิม พึ่งพาการส่งออกในภาค เศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว

ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

เศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว

ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

“เห็นได้จากการส่งออก ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปแล้วโดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่าและปีที่ผ่านมาส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านเหรียญนอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวและว่า ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า เป็นผลจากความน่าสนใจของไทย ที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงานโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า

ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสต้องใช้เวลานานที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่า กับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด จะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้ง จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

ล่าสุดการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อมไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140

สะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิมๆในช่วงที่ผ่านมา

“หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อยๆ และถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ 1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น”

ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่า และมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บางเรื่องอาจดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ

ในภาพรวมต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่าง ทันการณ์ ซึ่งในระยะข้างหน้าจะมีอย่างน้อย 2 กระแส คือ

1.กระแสดิจิทัล ที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง

และ 2.sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน

ส่วนภาครัฐต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและ ผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ภาคส่วนอื่นๆ ทำไม่ได้

โดยมีสองส่วน ส่วนแรก การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน

ส่วนที่สอง เร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่างๆ การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ

รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกของเราได้

ดอน นาครทรรพ
ธนวรรธน์ พลวิชัย

ด้าน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แม้จะมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ หากไม่รุนแรงมาก ก็น่าจะผ่านพ้น ไปได้

อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่มั่นคงนักจากความไม่แน่นอน ประกอบกับความเปราะบางจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จากราคาพลังงาน และสินค้าเกษตรแต่เชื่อว่าจะเป็นการชั่วคราว ซึ่งสุดท้ายอัตราเงินเฟ้อจะกลับลงมาสู่ระดับต่ำ

ดังนั้น คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไปได้ถึงสิ้นปี 2565 และในเวลานั้นเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับที่ก่อนเกิด โควิดได้ ซึ่งถือว่าประเทศไทยใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าประเทศอื่นๆ ในการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด

“ส่วนของตลาดแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการระบาดของโควิด ทำให้มีผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม และอัตรา การว่างงานที่ยังคงตัวในระดับสูง ทำให้หนี้ ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยต่อในปีหน้า”

ขณะที่ภาคธุรกิจไทยจะฟื้นตัวไม่เท่ากันหรือฟื้นตัวรูป ตัว ‘K’ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจะฟื้นตัวได้ดี หรือ K ขาบน ส่วนท่องเที่ยว ภาคบริการ และอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ใน K ขาล่าง

จากความเปราะบางของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ฐานะการเงินของธุรกิจและครัวเรือนยังไม่ดี ธปท. มองว่าในภาวะเช่นนี้ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมา เพิ่มแรงส่งให้เศรษฐกิจไทย

เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะในบางภาคอุตสาหกรรมอาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นภาคที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมถึง 10% ของจีดีพี และมีการจ้างงานโดยรวมประมาณ 3 ล้านคน

ฟากเอกชนโดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากก.ย.-ต.ค.

เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจต่างชาติ ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด เป็นผลจากการคลายมาตรการ ล็อกดาวน์ เปิดประเทศ จัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกับประธานหอการค้าภูมิภาค และจัดทำการสำรวจความเห็นทางออนไลน์ 350 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว และน่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นต้นไป

ชี้ให้เห็นว่าภาพเศรษฐกิจมหภาคฟื้น เห็นผลในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ไปถึงระดับภูมิภาค แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศแต่ก็เปิดเฉพาะพื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัด ขณะที่เอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงโอกาสทางธุรกิจ

ส่วนปีหน้าปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปีหน้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2565 หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 94.1% ของจีดีพีเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 92.6% ของจีดีพี

ประเด็นที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทย คือ

1.รัฐต้องควบคุมการแพร่ระบาดและการเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะถ้าการติดเชื้อในประเทศ ลดลงก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว

2.ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่อาจใช้มาตรการจำกัดเฉพาะบางกิจกรรมที่มีปัญหา

3.ผลักดันให้ภาคธุรกิจเปิดกิจกรรมได้ตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนควรเปิดให้ได้ในปีหน้า

4.จัดซอฟต์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs

5.กระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และลดปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่ควรขยายวงเงินเพิ่มอีกรายละ 3,000 บาท ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาท

และ 6.การทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีกลับมาคึกคัก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ทั้งหมดนั้นคือการวิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ แน่นอนว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาหามาตรการป้องกัน แก้ไข และ รับมือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน