จ้างงานชะลอ-รายได้หด-ศก.ฟื้นไม่ทั่วถึง
ธปท.จับสัญญาณท่องเที่ยวปี65ห่วงต่างชาติไม่มาจริง

แบงก์ชาติห่วงหลังโควิด เศรษฐกิจฟื้นตัวแต่ไม่เติบโตจริง เพราะรายได้ยังหด จ้างงานชะลอ ท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามคาด ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ชูนโยบายคลังช่วยฝ่าวิกฤต เผยถ้าไม่กู้ 1.5 ล้านล้านบาท จีดีพีอาจติดลบ 9%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2022 UNLOCK VALUE ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นเรื่องจำเป็น

เนื่องจากช่วยพยุงและประคองให้เศรษฐกิจไทยยังพอเติบโตได้ แม้จะไม่เต็มที่ก็ตาม เป็นผลให้ในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลมีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้การบริโภคของประชาชนปีนี้เติบโตได้ 1.6%

ยอมรับว่าการกู้เงินของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องให้บริหารด้านคลังอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะทำแบบสุดโต่งเกินไปคงไม่ได้ เพราะถือเป็นความน่าเชื่อถือของประเทศ

“การกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชนนั้น ถือเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น การสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อได้เป็นเรื่องสำคัญ การช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป”

เมื่อส่วนนี้เดินหน้าได้ การเยียวยาและช่วยเหลือต้องลดลง โดยการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่คาดว่าจะเปิดลงทะเบียนใหม่ในช่วงต้นปีหน้า

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สัญญาณเตือนภัยที่น่าจับตามองเศรษฐกิจไทย คือการฟื้นตัวที่คาดว่าจะช้าและไม่เท่าเทียมกัน โดยประเมินว่าจะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยกลับมาเติบโตใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ระบาด ได้ในปี 2566 แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวเชิงตัวเลขเท่านั้น

ขณะที่ความรู้สึกของคนจะไม่รู้สึกว่าฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดแรงงานและรายได้ของคนจะฟื้นตัวช้ากว่าตัวเลขจีดีพี เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว แม้ปัจจุบันจะมีการเปิดประเทศแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 6 ล้านคนตามที่คาดไว้ ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นแม้การเปิดประเทศจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นการดีแบบไม่ทั่วถึง

“ต้องยอมรับว่านโยบายการคลังยังเป็นพระเอกในการกอบกู้เศรษฐกิจขาล่าง เพราะแรงและตรงจุด โดยในปี 2563 เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 6% แต่หากไม่มีนโยบายการคลัง ไม่กู้เงินมาช่วยจะเห็นเศรษฐกิจติดลบถึง 9%”

ส่วนปี 2564 คาดว่าจะโตได้ 0.7% แต่ถ้าไม่มีนโยบายการคลังเศรษฐกิจจะติดลบ 4% เช่นเดียวกับปีหน้า เบ็ดเสร็จในช่วง 3 ปี (2563-2565) นโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเพิ่มได้ 10.8%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน