ญี่ปุ่นปิดประเทศกัน‘โอไมครอน’ – วันที่ 29 พ.ย. บีบีซีรายงานความคืบหน้ากระแสวิตกกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอน (บี.1.1.529) ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ก่อนกระจายไปทั่วโลก มีผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนที่ยืนยันได้อย่างน้อย 173 คนใน 15 ประเทศและเขตการปกครอง เป็นผู้ป่วยในแอฟริกาใต้ 107 คน บอตสวานา 19 คน เนเธอร์แลนด์ 13 คน ฝรั่งเศส 8 คน ฮ่องกง 5 คน เยอรมนี 3 คน สหราชอาณาจักร 3 คน ออสเตรเลีย 3 คน เดนมาร์ก แคนาดา และอิสราเอล ประเทศละ 2 คน อิตาลี เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก และออสเตรียพบแล้ว ที่ละ 1 คน หลายประเทศประกาศห้ามผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเข้าดินแดน

ส่วนทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นประเดิมห้ามชาวต่างชาติทั้งหมดเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.นี้ แม้เพิ่งผ่อนคลายเมื่อต้นเดือนพ.ย. อนุญาตให้เฉพาะการเดินทางเพื่อทำธุรกิจระยะสั้น นักเรียน-นักศึกษาต่างชาติ และวีซ่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนวีซ่าท่องเที่ยวยังเข้าญี่ปุ่นไม่ได้

มีเพียงเรา – ดาดฟ้าของสนามบินนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว เงียบเหงา ขณะรัฐบาล ญี่ปุ่นประกาศห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. เป็นต้นไป (เอเอฟพี)

แอฟริกาโวยมาตรการขวัญหนี

ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้ แถลงประณามมาตรการห้ามเข้าประเทศที่หลายชาติประกาศบังคับใช้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่า “ผิดหวังอย่างยิ่ง” พร้อมย้ำว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมและเรียกร้องให้นานาประเทศยกเลิกมาตรการกีดกันการเดินทางโดยเร็ว

ด้านนายมัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยประจำภูมิภาคแอฟริกา แถลงว่าปัจจุบันมีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนในหลายภูมิภาคของโลก การประกาศห้ามการเดินทางโดยพุ่งเป้าเฉพาะแอฟริกาถือเป็นการโจมตีความเป็นปึกแผ่นของโลก ประเทศตอนใต้ของแอฟริกากำลังตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และการกีดกันการเดินทางจะไม่ช่วยป้องกันการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน

“สิ่งเดียวที่มาตรการห้ามการเดินทางจะทำคือสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงทำลายความสามารถในการรับมือและการฟื้นตัวจากโรคระบาดนี้” นายโมเอติยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกมาตรการนี้ และว่าการระบาดของสายพันธุ์ โอไมครอนเป็นสัญญาณเตือนให้โลกร่วมมือในการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเท่าเทียม เพราะไวรัสร้ายจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกคนบนโลกจะได้รับวัคซีน

อาการน้อยมาก-รักษาที่บ้านได้

แพทย์หญิงแองเจลีก โคเอตซี ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ แพทย์กลุ่มแรกที่ตั้งข้อสงสัยถึงเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า อาการผู้ติดเชื้อโอไมครอนมีความรุนแรงน้อยมาก รักษาตัวที่บ้านได้ จากการสังเกตอาการผู้ป่วยที่คลินิกเอกชนของตนเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 7 คนมีอาการคล้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต่างจากผู้ป่วยเดลตาซึ่งมักมีอาการรุนแรง โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้เหนื่อยอ่อนมาก 2 วัน มีอาการปวดหัวและปวดเมื่อยตามร่างกาย เหมือนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสทั่วไป และเพราะคลินิกไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เข้ารักษาในช่วง 8-10 สัปดาห์ เมื่อตรวจหาเชื้อโควิด จึงพบว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ โอไมครอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน