คลังจ่อกระตุ้นศก.-ของขวัญปีใหม่ คลังส่งซิกเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนภาพรวมหลังเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. จัดเก็บรายได้ดีขึ้น ด้านแบงก์ชาติประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ชี้ยังแข็งแกร่ง แต่ห่วง 2-3 ปีข้างหน้าหนี้ครัวเรือนอาจส่งผลกระทบเติบโต วอนรัฐเร่งช่วยเหลือรายย่อย

นายกฤษฎา จีณะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นของขวัญปีใหม่ ในส่วนของกระทรวงการคลังดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยมีทั้งมาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่สามารถดำเนินการได้เลย และบางส่วนที่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน

ยืนยันว่ายังไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากเชื่อมั่นว่ามาตรการป้องกันของภาครัฐจะสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังรัฐบาลเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564

ส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สูงกว่าประมาณการ และสูงกว่าปีก่อนราว 1 หมื่นกว่าล้านบาท

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ในส่วนอื่นๆ ก็ยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งภาพรวมการส่งออกที่เติบโตได้อย่างมีศักยภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ภาพรวมการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 16-17%

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีเงินกองทุนเงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ธุรกิจประกันภัยยังมีฐานะการเงินมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และผลกระทบที่อาจมีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความรุนแรงของสายพันธุ์ โอมิครอน ประสิทธิภาพของวัคซีน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงกรณีเลวร้ายที่ต้องกลับไปล็อกดาวน์ เป็นต้น

นอกจากการประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุดแล้ว ที่ประชุมเห็นควรเตรียมความพร้อมด้านมาตรการ และเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง หรือในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ควรเร่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างต่อเนื่อง และความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนโดยทั่วไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน