‘คมนาคม’เปิดแผน1.4ล้านล้าน
เร่งบูสต์อัพเศรษฐกิจไทยปีเสือ

หลังจากที่รัฐบาลเร่งกระจายการฉีดวัคซีนทั่วประเทศได้ครอบคลุม จนทำให้อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเหลือระดับหลักพัน และอัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือระดับหลักสิบ

ประกอบกับการออกมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง ด้วยการประกาศเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เริ่มเห็นประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยและเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น

ลำพังเพียงการใช้จ่ายภาคการบริโภคเพียงอย่างเดียว คงมีพลังไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจไทย ยังมีสัญญาณบวกที่ไม่ชัดเจน เพราะหลายๆ ประเทศทั่วโลก ยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยว

กระทรวง ‘คมนาคม’ ในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการ ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ จำเป็นต้องออกมาเร่งบูสต์อัพเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้เร็วและแรง เพื่อให้เกิดแรงผลักให้เศรษฐกิจภาพรวมเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยขับเคลื่อนผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

การเร่งการลงทุนภาครัฐ ยังมีส่วนช่วยในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนให้เข้ามาเติมในระบบเศรษฐกิจได้อีกบางส่วน

เนื่องจากโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมส่วนใหญ่กำหนดให้เป็นรูปแบบโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership-PPP) ที่เอกชนจะต้องควักกระเป๋าอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาร่วมด้วย และยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากภาคการลงทุนเอกชนได้อีกด้วย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและการขนส่งในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการในเชิงรุก โดยบูรณาการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคม ให้เกิดความสะดวก

สามารถเชื่อมโยงทั่วถึงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ปลอดภัย ตรงต่อเวลา และมีราคาค่าบริการที่สมเหตุสมผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจไทย

มีทั้งโครงการลงทุนที่เป็นการสานต่อจากนโยบายเดิมในปี 2564 และโครงการลงทุนโครงการใหม่ในปี 2565

“สำหรับปี 2565 กระทรวงคมนาคมได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนภาครัฐอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไว้มากถึง 1.4 ล้านล้านบาท ภายใต้ 40 โครงการสำคัญ ครอบคลุมการลงทุนครบทั้ง 4 มิติ คือภาคการขนส่งทางถนน ภาคการขนส่งทางราง ภาคขนส่งทางน้ำ และภาคการขนส่งทางอากาศ”

โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วนคือ โครงการลงทุนเก่าที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว และต้องลงทุนต่อเนื่อง วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท

โครงการลงทุนเดิมที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งขับเคลื่อนต่อเนื่องในปี 2565 วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนน 1 โครงการ วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท

ทางบก 1 โครงการ วงเงิน 2.8 พันล้านบาท

ทางราง 7 โครงการ วงเงิน 4.8 แสนล้านบาท

และทางอากาศ 4 โครงการ วงเงิน 5.7 พันล้านบาท

ส่วนโครงการลงทุนใหม่ในปี 2565 วงเงิน 9.74 แสนล้าน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 24 โครงการ

แบ่งเป็นโครงการลงทุนทางถนน 12 โครงการ วงเงิน 2.8 แสนล้านบาท

ทางราง 5 โครงการ วงเงินลงทุน 6.3 แสนล้านบาท

ทางอากาศ 4 โครงการ วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท

ทางบก 1 โครงการ วงเงิน 1.4 พันล้านบาท

และทางน้ำ 2 โครงการ วงเงิน 6.1 พันล้านบาท

สําหรับโครงการทางถนน จำนวน 12 โครงการ วงเงินรวม 2.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายวงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท (ปี 2565-2568)

2.มอเตอร์เวย์ M9 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (หรือดอนเมืองโทลล์เวย์) วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท (ปี 2566-2569)

3.โครงข่ายเชื่อมต่อ มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา (M6 ) กับทางหลวงหมายเลข 32 วงเงิน 4.7 พันล้านบาท

4.มอเตอร์เวย์ (M7) ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท (ปี 2567-2570)

5.มอเตอร์เวย์ M 8 สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท

6.ทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ N1 และ N2 วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท (ปี 2567-2570)

7.ทางด่วนส่วนต่อขยายสายฉลองรัฐ ช่วงจตุโชติ- ถนนวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท (ปี 2567-2570)

8. ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท (ปี 2567-2570)

9.ทางด่วน ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท (ปี 2568-2571)

10.ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม วงเงิน 1.6 พันล้านบาท (ปี 2565-2567)

11.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) วงเงิน 4.7 พันล้านบาท (ปี 2566-2568)

และ 12.นโยบายแต่งแต้ม สีสัน ทางหลวง ส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 280 ล้านบาท (ปี 2565-2566)

ทางราง มี 5 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 6.2 แสนล้านบาท

1.รถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท (ปี 2565-2569)

2.รถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท (ปี 2565-2569)

3.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท (ปี 2565-2570)

4.รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท (ปี 2565-2570)

และ 5.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท (ปี 2565-2571)

ทางอากาศ มี 4 โครงการ วงเงินรวม 5.9 หมื่นล้านบาท

1.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท (ปี 2565-2569)

2.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท (ปี 2565-2572)

3.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานชุมพร วงเงิน 3.2 พันล้านบาท (ปี 2565-2570)

และ 4.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานระนอง วงเงิน 3.5 พันล้านบาท (ปี 2565-2571)

ขณะที่ทางบก มี 1 โครงการ คือ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1.3 พันล้านบาท (ปี 2565-2567)

ทางน้ำมี 2 โครงการ

1.แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งช่วง อ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 4 ก.ม. วงเงิน 1 พันล้านบาท (ปี 2565)

2.เขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.พระนครศรีอยุธยา ถึงอ.คลองหลวง ระยะทาง 13 ก.ม. วงเงิน 5.1 พันล้านบาท (ปี 2566)

กระทรวงคมนาคม ซึ่งกุมเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในมือมากที่สุดถึง 1.4 ล้านล้านบาท ดูจะเป็นความหวังหลักที่จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเดินหน้าได้ แต่ที่ผ่านมามักประสบปัญหาเบิกจ่าย

เห็นได้จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในเดือนพ.ย.2564 ที่ระบุว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งในสังกัดคมนาคม ติดอันดับต้นๆ ในการเบิกจ่ายล่าช้า

อันดับ 1 คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เบิกจ่ายได้ 89% รองลงมาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบิกจ่ายได้ 73% และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เบิกจ่ายได้ (กทพ.) 70%

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า และเม็ดเงินลงทุนไม่สามารถเข้าไปอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย เพราะโครงการจำนวนมากได้รับจัดสรรงบประมาณสูง มักถูกร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสในการดำเนินการ

ทำให้การประมูลก่อสร้างหยุดชะงัก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเร่งให้เกิดการลงทุนที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว

คงต้องรอพิสูจน์ฝีมือกระทรวงคมนาคมกันต่อไปใน ปี 2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน