เสวนาสิ่งแวดล้อมศรีสะเกษพระนักพัฒนาสังคมชี้ปัญหา – เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเขตอภัยทานหนองเข็งน้อย หมู่ที่ 10 บ้านหนองเข็งน้อย ต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายธานนท์ โสภิตชา ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย เครือข่ายภาคประชาสังคม จ.ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมจัดกิจกรรมโครงการประชุมเสวนา เรื่อง กระบวนการส่งเสริมกิจกรรมคุณธรรมสำหรับนักศึกษาด้วยหลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน และราชการ) เฉลิม พระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2564 โดยมีการปล่อยนก สู่ฟ้า ปล่อยปลาสู่น้ำ มีเครือข่าย ทสม.พี่น้องจิตอาสา ผู้นำชุมชน ครู นักเรียน นักศึกษา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเสวนา แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเพื่อพัฒนาสังคม มีผู้ร่วม แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ อาทิ พระศรีญาณวิเทศ (พิมล ญาณวิมโล) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำมิชิแกน สหรัฐอเมริกา, พระครูอรุณปุญโญภาส (บุญ โชติปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดสำโรงเกียรติ, พระบุญมี เตชธัมโม ประธานสงฆ์วัดป่าหนองม่วง เป็นต้น

มี นายทิวา รุ้งแก้ว ครูใหญ่ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

พระศรีญาณวิเทศ (พิมล ญาณวิมโล) กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เนื่องจากว่า มีการระดมความคิดเห็นของพระสงฆ์ แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ในการที่จะร่วมกันพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อาตมภาพเห็นว่า การเสวนาครั้งนี้ ไม่ควรที่จะเป็นเพียงการพูดคุยกันในระดับฐานราก เราควรที่จะมีการสะท้อนความคิดเห็นไปยัง ส.ส.หรือส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะมารับทราบสรุปผลการเสวนาในครั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นแนวคิดข้อมูลในการที่จะได้นำไปพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านพระบุญมีกล่าวว่า การที่มีน้ำท่วมในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ในปีนี้ เป็นผลมาจากการจัดการน้ำโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติการไหลของน้ำ เช่น ลำห้วยคล้า บริเวณ ต.สะเดาใหญ่ ที่เป็นร่องน้ำเดิมนี้ หากไม่มีการไปถมคลอง จะไม่สร้างความเดือดร้อนแถวบริเวณเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน เพราะว่าที่ตำบลสะเดาใหญ่ ไม่ได้ทำบล็อกคอนกรีตเอาไว้เหมือนเดิม แต่ก่อนเป็นร่องน้ำเดิมเรียกว่า ห้วยจามร แต่ปัจจุบันห้วยจามรหายไป เนื่องจากมีการออกโฉนดทับที่สาธารณะ จึงทำให้มีปัญหาทำให้เกิดน้ำท่วมห้วยแฮดในเขตของ ต.ไพรบึง ต.พยุห์ และในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ เกิดจากการที่เราบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จึงขอให้เอาจริงเอาจัง คือ ให้มีคลองน้ำเดิม ห้วยเดิมให้เปิดเหมือนเดิมจาก ต.สะเดาใหญ่ ลงมาที่ ต.ตะเคียนแล้วที่ ต.ดองกำเม็ด มาถึง ต.หัวเสือ

“ถ้าตรงนี้เปิดคลองน้ำได้น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี พ.ศ.2564 จะไม่มีปัญหาเลยและน้ำที่ห้วยคล้าตรงนี้น้ำจะไม่ไปท่วมไร่นาแม้แต่รายเดียว น้ำจะไหลลงไปสู่ อ.เมือง แล้วก็จะจบไปเลย เราไปพาสน้ำออกไปเยอะ แต่ห้วยคล้าไม่มีน้ำ ห้วยแฮดน้ำจะไหลลงจาก อ.ภูสิงห์ อ.ขุขันธ์ จนไปถึงประเทศเวียดนาม แต่ห้วยคล้านี่โดนบล็อกน้ำ น้ำไหลผ่านไปเป็นเดือนไม่มีน้ำในเขตของ ต.สำโรงตาเจน ต.ศรีสำราญ ต.กฤษณา ผ่านไปถึง อ.วังหิน ไม่มีน้ำเลยเนื่องจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด”

พระครูอรุณปุญโญภาสกล่าวว่า ในแถบพื้นที่ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษ์ และ อ.ศรีรัตนะ ปลูกทุเรียนกันมาก อาตมาจึงเห็นว่า เราควรต้องเพิ่มคำว่า ทุเรียนภูเขาไฟ เข้าไปในคำขวัญของ จ.ศรีสะเกษ เพราะว่าทุเรียนภูเขาไฟเป็นทุเรียนที่อร่อยมาก กรอบนอก นุ่มใน กลิ่นไม่ฉุน ละมุนลิ้น นี่คือทุเรียนภูเขาไฟของ จ.ศรีสะเกษ จึงอยากให้เพิ่มคำขวัญ จ.ศรีสะเกษว่า ศรีสะเกษ แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี มีทุเรียนภูเขาไฟ

ศิริเกษ หมายสุข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน