2565อีกปีที่ท้าทาย‘ค้าปลีกไทย’
‘ยักษ์ใหญ่’ปรับตัวสู้ศึก-ชิงตลาด

รายงานพิเศษ

บอบช้ำแสนสาหัสตลอด 2 ปีที่ผ่านมาสำหรับ “ธุรกิจ ค้าปลีกไทย” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ยิ่งในปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปโคม่าหนักขึ้นไปอีก ส่งผล กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกด้าน รวมถึงธุรกิจค้าปลีกมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาท

ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน ติดลบ 70% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2.7 แสนล้านบาท

ทำให้ในปี 2565 ทิศทางการฟื้นตัวของยอดขายธุรกิจ ค้าปลีกจะกลับมาแข็งแกร่งได้มากน้อยเพียงใด ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายของผู้ประกอบการ

กลุ่ม‘เซ็นทรัล’พร้อมเดินหน้า

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาแม้กลุ่มเซ็นทรัล ต้องตั้งรับกับโควิด-19 แบบพัลวัน แต่ไม่หยุดนิ่งศึกษาหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต ดังนั้นในปี 2565 เตรียมพร้อม เผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างเต็มที่

‘ชาติ จิราธิวัฒน์’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีแผนเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี ในช่วงกลางปี 2565 และยังคงเดินหน้าลงทุนโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง

เน้นไปในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ วางงบลงทุนไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อรองรับโอกาสในการลงทุนศูนย์การค้า ใหม่ๆ

นอกจากนี้ ศึกษาโอกาสการลงทุนธุรกิจในรูปแบบอื่น การเข้าซื้อกิจการ และการลงทุนในต่างประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย และเวียดนาม

“บริษัทปรับแผนการลงทุนในระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) และแผนพัฒนาโครงการใหม่ ที่ยังไม่ได้ประกาศ ทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม หรือมิกซ์ยูส (Mixed-use) โครงการที่พักอาศัย รวมถึงแผนการปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน”

ปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนา บริหารจัดการศูนย์การค้า 35 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ, ต่างจังหวัด 19 โครงการ และในมาเลเซีย 1 โครงการ

ศูนย์การค้าภายใต้กิจการร่วมค้า 1 แห่ง คอมมูนิตี้ มอลล์ 17 แห่ง ศูนย์อาหาร 30 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง โครงการที่พักอาศัยอีก 19 โครงการ

รวมถึงโครงการค้าปลีกที่เข้าซื้อกิจการจากบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอฟ

‘โรบินสัน’เปิด 6 กลยุทธ์หลัก

ด้านห้างเซ็นทรัล-โรบินสัน ทาง ‘โอลิวิเยร์ บรง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของกลุ่มห้างสรรพสินค้า เครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสัน เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2565 กับวิสัยทัศน์เป็นห้างสรรพสินค้าของคนไทย ด้วยโซลูชั่นเหนือระดับ ทั้งสินค้า และแบรนด์ใหม่ๆ

ตลอดจนเดินหน้าการสร้างอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ของห้างที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อตั้งเป้าหมายใน 5 ปี เริ่มจากปี 2564-2569 ยอดขายจะเติบโตกว่า 2 เท่า

ภายใต้ 6 กลยุทธ์หลัก

1. เลือกสินค้าและบริการที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้า

2. ปรับปรุงและขยายสาขาเพิ่มความแข็งแกร่ง ด้วยงบลงทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางให้กับชุมชน โดยปี 2565 เปิดโฉมใหม่และสาขาใหม่ อาทิ เซ็นทรัล ชิดลม ลาดพร้าว และพระราม 2 ส่วนโรบินสัน สาขาฉะเชิงเทรา โรบินสันศรีสมาน และโรบินสันไลฟ์สไตล์ในจังหวัดที่มีศักยภาพ อาทิ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และอีก 2 สาขา

3. เดินหน้าสร้างห้างสรรพสินค้าออมนิชาแนลอันดับหนึ่งของไทย ทั้งทางโลกออฟไลน์ ออนไลน์ โดยทุ่มงบด้านเทคโนโลยีกว่า 3,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี พัฒนา CENTRAL APP สู่การเป็น Super App ที่มีบริการต่างๆ เริ่มห้างเซ็นทรัลสีลมคอมเพล็กซ์ ปลายปีนี้ และ Central TV Live ช่องไลฟ์สไตล์ ทาง Youtube และ Facebook

4. สร้างความแตกต่างทางการตลาดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ในปี 2565 ลูกค้าห้างเซ็นทรัล จะได้พบกับความตื่นตาตื่นใจของทั้งกิจกรรมและโปรโมชั่น ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของห้างเซ็นทรัล

และ 5.สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ที่ต้องได้รับความสะดวกสบายและความประทับใจ 6.การออกแบบแคมเปญการดูแลลูกค้าให้เข้าถึงและตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นจากการใช้ดาต้าบนฐานข้อมูล The1 กว่า 18 ล้านราย

‘เดอะมอลล์’ทุ่ม 2 หมื่นล้าน

กลุ่มเดอะมอลล์ ขยับสู่เป้าหมายฟิวเจอร์ รีเทล (Future Retail) ในอนาคต ตามโรดแม็ปของ ‘ศุภลักษณ์ อัมพุช’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งวางโรดแม็ปเข้าสู่ยุคใหม่ (New Era)

ปรับภาพลักษณ์ใหม่ จาก ‘เดอะมอลล์’ อาณาจักรแห่งความสุขทุกครอบครัว สู่รีเทลโมเดลใหม่ ‘เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์’

หลังจากปี 2564 ที่ผ่านมา เดอะมอลล์ กรุ๊ป เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ดิจิตอล รีเทล เปิดตัว MONLINE .COM อย่างเป็นทางการเมื่อเม.ย. ช็อปปิ้งออนไลน์ให้บริการ LIVE PERSONAL SHOPPER และ VIRTUAL STORE สาขาพารากอน

จากนั้นขยายเปิดตัว GOURMETMARKETTHAILAND .COM

รุกต่อเนื่องในปี 2565 เพื่อผลักดันให้มียอดขายจากช่องทางออนไลน์ในปีแรก 2,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ตั้งเป้าหมายมีสัดส่วนยอดขายจากออนไลน์ 15% ใน 3 ปี และเป็น 25% ใน 5 ปี

ขณะเดียวกันปรับปรุงศูนย์การค้าโฉมใหม่ในคอนเซ็ปต์ ไลฟ์สโตร์ ภายใต้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท ตามแผน 5 ปี (2562-2566)

โดยปรับโฉมไปแล้ว 2 สาขา คือ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน และเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ

ที่สำคัญแผนงานของกลุ่มเดอะมอลล์ที่ถูกวางไว้อย่างรัดกุม และหลากหลาย เพื่อพลิกกำลังซื้อให้กลับมาอีกครั้ง โดยเริ่ม บุกหนักตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

อาณาจักรค้าปลีก‘เครือซีพี’

การซื้อกิจการ ‘แม็คโคร’ และ ‘เทสโก้ โลตัส’ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของเครือแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทั้ง เซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร ซีพีเฟรชมาร์ท และเทสโก้ โลตัส มีจำนวนสาขารวมกันกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มศักยภาพที่จะขยายออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น

ช่วงปลายปี 2564 เครือซีพี จัดทัพธุรกิจค้าปลีกใหม่ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหารของเครือซีพี ให้เหตุผลการปรับโครงสร้าง ว่า เครือซีพีตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของเครือให้ได้อย่างรวดเร็วทั้งในไทย และทั่วภูมิภาค

หัวหอกของธุรกิจ อย่าง ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ แผนเปิดสาขาใหม่วางไว้ปีละ 700 สาขา ภายใต้งบลงทุน 10,000-12,000 ล้านบาทต่อปี

รวมปรับสาขาเดิม เพื่อสร้างการเติบโต รองรับจำนวน นักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนปกติ พร้อมจะมุ่งนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

ในขณะที่เทสโก้ โลตัส จะเดินหน้าเปลี่ยนร้านสาขาที่มีอยู่ให้เป็นโลตัส ควบคู่กับการเปิดสาขาใหม่ๆ

บิ๊กซีเปิดยุทธศาสตร์ใหม่สู้

‘บิ๊กซี’ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ที่มีเจ้าของอย่าง ‘เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี’ ชะลอการลงทุน และเน้นโฟกัสไปที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

รุกแผนขยายสาขามินิบิ๊กซี ส่วนบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่เป็นสาขาขนาดใหญ่ ต้องเบรกการลงทุนไว้ก่อน เนื่องจากการเปิดแต่ละครั้งจะต้องใช้งบลงทุนสูง อีกทั้งได้เพิ่มน้ำหนักช่องทางขายออนไลน์ พัฒนาแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ มาอย่างต่อเนื่อง

‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี เปิดยุทธศาสตร์ ‘บิ๊กซี’ ใหม่ ภายใต้งบลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท ปรับปรุงสาขาที่มีอยู่ในแต่ละรูปแบบ (ฟอร์แมต) ของบิ๊กซี เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละทำเล

ทั้งการปรับสาขาใหญ่ให้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ให้บิ๊กซี เป็น Happy Space ของคนทั้งครอบครัว และตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคระดับบนมากขึ้น

รวมถึงปรับบิ๊กซีในฟอร์แมตซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เป็น ‘บิ๊กซี ฟู้ดเพลส’ (Big C Foodplace) ตอบโจทย์คนเมืองรุ่นใหม่

แม้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่พร้อมเผชิญกับความท้าทายในปี 2565 แต่การมาของ ‘โอมิครอน’ ยังเป็นปัจจัยให้การดำเนินธุรกิจในปีใหม่นี้ยังคงยากลำบากต่อเนื่อง

ขณะที่รายกลางไปจนถึงรายเล็ก ยังต้องประคองตัวรอการฟื้นตัวกันต่อไป

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน