“ศีล 5 เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะหัวใจของประชาธิปไตยอยู่ที่การเคารพสิทธิมนุษยชน” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“พระศรีอาริยเมตไตรย” เป็นนามพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดไลย์ ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี วัตถุมงคลรูปพระศรีอารยเมตไตรยสร้างขึ้นมาหลากหลายรุ่น แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เหรียญปั๊มปี พ.ศ.2467 มีหลายแบบพิมพ์ หลากเนื้อหา ทั้งทองแดงกะไหล่ทอง ทองเหลือง และเนื้ออะลูมิเนียม ส่วนเนื้อเงินก็มีบ้างเล็กน้อย

ลักษณะเป็นพิมพ์รูปใบเสมา มีหูในตัว ขนาดเหรียญกว้างประมาณ 2.2 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เซนติเมตร ด้านหน้า เป็นรูปพระศรีอาริย์ประทับนั่งเหนืออาสนะตั่งสามขา มีอักษรไทยเบื้องล่างเหรียญว่า “ที่ระฤก พระศีรอาริย วัดไลย์” ใต้หูเหรียญมีอักขระขอมว่า “พุท ธะ สัง มิ” ด้านหลัง เป็นยันต์สี่เหลี่ยมขมวดมุม แบ่งตารางเป็น 25 ช่อง บรรจุอักขระขอมเอาไว้ ใต้ยันต์เป็นปีที่สร้างเหรียญ คือ “พ.ศ.2467” นับเป็นเหรียญที่มีพุทธลักษณะงดงามและมากด้วยพุทธคุณ

“หลวงพ่อย้อย ปุญญมี” อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี พระเกจิชื่อดัง วัตถุมงคลจัดสร้างมาหลายรุ่น อาทิ ผ้ายันต์ ตะกรุด เหรียญ ฯลฯ แต่ที่ได้รับความนิยมคือเหรียญเสมา ปี พ.ศ.2511 ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2511 ที่อุโบสถหลังเก่า โดยพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังร่วมนั่งปรก

ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหู ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อย้อยนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ด้านบนรูปเหมือนเขียนว่า “๒๕๑๑” ขอบเหรียญรูปใบเสมา เขียนคำว่า “หลวงพ่อย้อย ปุญญมี วัดอัมพวัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี” ด้านหลังเหรียญ ไม่มีขอบ ตรงกลางเหรียญเป็นพระพุทธรูป ด้านบนเขียนว่า “หลวงพ่อขาว” ปัจจุบันกลายเป็นเหรียญหายาก

“หลวงปู่จันทร์ จันทโชติ” วัดนางหนู จ.ลพบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังสมัยสงครามอินโดจีนต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญรูปเหมือนปี 2478” แจกเป็นที่ระลึกในการจัดสร้างศาลาวัด

นับเป็นเหรียญยอดนิยม รับการยกย่องให้เป็นเหรียญประจำจังหวัดลพบุรี ด้วยเป็น “เหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียว” เท่าที่พบเป็นเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่กลม หูในตัว

ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบเป็นลวดแบน ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์หน้าตรง มีอักษรไทยโดยรอบว่า “หลวงพ่อจัน อายุครบ ๘๓ ปี พระจันทะโชติ์” ด้านหลังเหรียญ เป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็นอักขระขอม “นะเฉลียวเพชร” ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม แล้วล้อมด้วยอักขระขอม 3 ตัว ว่า “อิสวาสุ” โดยรอบเหรียญจารึกอักษรไทยว่า “ให้เป็นที่รฤกในงานฉลองศาลา พ.ศ.๒๔๗๘” ปัจจุบันหาดูหาเช่ายากยิ่ง

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน