กลุ่มปลูกข้าวทับปุด โชว์ของดีเมืองพังงา “คุณโรจนินทร์ ม่วงเพชร” วัย 46 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกข้าวทับปุด อ.ทับปุด จ.พังงา และประธานเครือข่ายยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์ (young smart farmer) จ.พังงา เป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนอีกคนที่ลาออกเพื่อมาทำการเกษตร แต่ก่อนจะลงมือทำก็เตรียมวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนไว้เรียบร้อยแล้ว และมีเป้าหมายชัดเจน โดยเริ่มจากความรักความชอบของตัวเองเป็นหลัก ทั้งในเรื่องการปลูกข้าวพื้นถิ่นของ จ.พังงา และการปลูกไผ่นานาชนิด ซึ่งทุกชนิดมีคุณสมบัติโดดเด่นแตกต่างกัน แต่สุดท้ายสามารถแปรเป็นรายได้มาจุนเจือครอบครัว และยังสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชนด้วย

วันก่อนสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวจาก จ.ภูเก็ต เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยววิถีเกษตรที่โรงสีปู่เจ้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกข้าวทับปุด ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาต้นแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยว Gastronomy Tourism ภายใต้แนวคิด BCG Model : Phuket BCG Tourism อันเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ TOCA เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism) ที่เป็นกลไกสนับสนุน BCG Value Chain โดยการเชื่อมโยงพันธมิตรและยกระดับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกรอินทรีย์ ผู้ประกอบการโรงแรม/ร้านอาหาร และผู้บริโภคให้ได้มีส่วนร่วมและผลประโยชน์บนฐานการค้าที่เป็นธรรมจากการพัฒนากระบวนการทำงานและการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับหลักการ BCG Model เพื่อไปสู่ความยั่งยืน

คุณโรจนินทร์เกริ่นว่า เริ่มทำเกษตรจริงจังปี 2558 ก่อนหน้านั้นไปๆ มาๆ โดยปลูกไผ่ในสวนยางพารา และเมื่อ 3 ปีที่แล้วรวมกลุ่มกัน แต่เพิ่งมาจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจเมื่อเดือนส.ค.2564 มีสมาชิกทั้งหมด 14 คน กิจกรรมหลักๆ คือ ปลูกข้าวในพื้นถิ่นให้ได้คุณภาพแล้วก็การแปรรูป โดยทำครบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งปลูกเอง แปรรูปสีข้าวเองแล้วขายเอง พร้อมกันนี้ตั้งใจจะต่อยอดเรื่องเส้นขนมจีนจากข้าวไร่ดอกข่าที่เป็นข้าวไร่พื้นถิ่น ซึ่งได้เครื่องหมาย GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์-Geographical Indications หรือ GI) โดยใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือใช้จากการสีข้าวเช่น แกลบ และรำ นำมาใช้ในการทำขนมคุกกี้ โดยครอบครัวทำขนมคุกกี้ดอกข่า และขายข้าวสารชื่อแบรนด์ “บุตรนาค”

นอกจากนี้อยู่ในขั้นตอนการทำเส้นขนมจีนอบแห้งข้าวไร่ดอกข่าที่มีเครื่องปรุงกึ่งสำเร็จรูป เพียงนำเส้นที่อบแห้งไปลวก ปรุงด้วยเครื่องปรุงที่เป็นสูตรน้ำยาใต้ก็สามารถทานได้เลย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับวิทยาลัยชุมชน จ.พังงา
ในส่วนข้าวไร่ดอกข่า เชื่อว่าบางคนอาจไม่รู้จัก ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกข้าวทับปุด ซึ่งจบมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม แจกแจงว่า เมล็ดข้าวมีสีน้ำตาลอมม่วง บางคนก็ว่าเมล็ดสีแดง มีขนาดใหญ่กว่าข้างสังข์หยดของ จ.พัทลุง มีความโดดเด่นเพราะมีสารกาบาค่อนข้างสูง มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีจำนวนมากกว่าข้าวชนิดอื่น ประมาณสัก 30 เท่าจาก ค่าโภชนาการ เป็นข้าวหอมมีกลิ่นหอมคล้ายๆ เผือก มีความต้านทานโรคสูง ที่สำคัญคือปลูกในที่โคก ใช้น้ำน้อย อาศัยฤดูฝนตามปกติ เป็นข้าวนาปีสามารถปลูกในที่ดอนได้

สมาชิก 10 กว่าคนของกลุ่ม ปลูกข้าวไร่ดอกข่าประมาณ 200 กว่าไร่ เนื่องจากมีพื้นที่ 2 แบบคือ พื้นที่ปลูกถาวร กับพื้นที่ช่วงปลูกยางพาราหรือปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งถ้าพืชหลักโตแล้วจะต้องย้ายไปปลูกพื้นที่ใหม่ สำหรับราคาขายโดยทั่วไปถ้าเป็นข้าวสารอยู่ที่ก.ก.ละ 65-70 บาท แต่ถ้าขายในตลาดพรีเมียมที่กรุงเทพฯ ตก ก.ก.ละ 100-120 บาท

คุณโรจนินทร์ขยายความของการทำโรงสีว่า ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวแล้วขายวัตถุดิบที่เป็นข้าวเปลือกไปให้คนอื่นก็จะรายได้แค่นั้น แต่ยังมีส่วนต่างอีก จึงต้องทำให้ครบทั้งต้นนำจนถึงปลายน้ำ ส่วนการปลูกไผ่ที่มีจำนวนกว่า 100 พันธุ์ในพื้นที่ 5 ไร่นั้น บางสายพันธุ์เป็นความชอบส่วนตัว แต่ไผ่ที่ปลูกจำนวนกอมากคือไผ่ข้าวหลามกาบแดง ซึ่งเป็นไผ่ทางเหนือที่ไม่มีหนาม มีข้อยาวปล้องยาว (สนใจโทร. 09-4159-6456)

นอกจากจะปลูกไผ่เยอะแล้ว คุณโรจนินทร์ยังขายต้นพันธุ์ด้วย อย่างที่เจ้าตัวเล่าว่า “มีเครือข่ายไผ่เราค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องไผ่ข้าวหลามเพราะว่าทางใต้ วัตถุดิบที่ขาดคือไผ่ที่นำมาเผาข้าวหลาม จึงต้องสร้างเครือข่ายไปในตัวเพราะถ้าต่อไปทำกิจกรรมเยอะกว่านี้ไผ่ที่มีอยู่ 5 ไร่ไม่พอแน่นอน ตอนนี้ผมขยายไป และตอนนี้ก็มีรายได้ระหว่างปีในการขยายพันธุ์ไผ่ชนิดต่างๆ ที่มีหลากหลาย บางคนชอบในเรื่องของการก่อสร้างก็มีไผ่ก่อสร้าง มีสายพันธุ์ไผ่ในส่วนการทำอาหาร เรื่องความสวยงามก็มี บางต้นหลักหมื่นหลักพัน บางครั้งโรงแรมหรือบางคนที่ต้องการปรับแต่งภูมิทัศน์พวกนี้เขาต้องการไผ่ที่มันสวยงาม จำพวกไผ่สวยงามอย่างเช่นไผ่ใบด่าง ไผ่ลำลายใบที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขาเรียกว่าไผ่แตก ทุกวันนี้ที่เขาฮิตๆ กันอยู่”

ประธานเครือข่ายยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์ จ.พังงา อธิบายถึงเทคนิคการการปลูกข้าวไร่ดอกข่าอินทรีย์เพื่อให้ผลผลิตที่ดีว่า ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวที่ทนต่อโรค แต่ศัตรูคือนกกับหนู เป็นข้าวหนักเก็บเกี่ยวได้ 120-130 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าแดดจ้าจะสุกเร็ว การทำให้ได้คุณภาพคือการควบคุมนกกับหนูที่เป็นศัตรูฉกาจ เพราะรอบข้างเป็นปาล์มน้ำมันปาล์มที่หนูชอบ ที่อื่นอาจใช้ยาเบื่อแต่ที่นี่ใช้ขี้แพะสดกับฉี่โรยไว้รอบแปลง เป็นการปรามไม่ใช่ได้ผล 100% เป็นภูมิปัญญามาจากชาวบ้านที่ทำนาแถวทับสะแก ซึ่งปกติหนูไม่ชอบกลิ่นฉี่แพะเยี่ยวแพะ แต่ต้องสดไม่ใช่หมักมาแล้ว

ส่วนปัญหาแมลงใช้น้ำส้มควันไม้ ต้องฉีดทุก 7 วัน ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ดีต่อตัวเกษตรกร คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม จะเกิดความปลอดภัย ทุกวันนี้คนเป็นโรคกันมากก็เกิดจากการกิน ถ้ากินของดีๆ เข้าไปร่างกายก็ดี
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกข้าวทับปุดมีหลายกิจกรรมให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ทั้งเรื่องปลูกข้าว สีข้าว แปรรูปเป็นขนมจีน การปลูกไผ่และการทำข้าวหลาม ฯลฯ
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยววิถีเกษตร…ไม่ควรพลาด

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน