GenZค่าย‘ครีเอทีฟ เอไอ แคมป์’ – กลุ่ม Gen Z เยาวชนที่ปัจจุบันยังอยู่ในวัยเรียนไปจนถึงกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นทำงาน (First jobber) นับเป็นกำลังสำคัญที่จะเติบโตสู่การขับเคลื่อนประเทศในอนาคต การพัฒนา Gen Z ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกในอนาคต จึงนับเป็นการสร้างรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาประเทศ

ค่าย Creative AI Camp ค่ายเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. จัดโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือซีพีออลล์ และพันธมิตร มุ่งมั่นมอบทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทักษะด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทักษะด้านการ “คิดภาพใหญ่” และคิดแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) ให้แก่กลุ่ม Gen Z จากไม่มีพื้นฐาน สู่การเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ ไอเดียพัฒนาเอไอ ที่น่าสนใจและต่อยอดได้จริง หลังดำเนินงานจัดค่ายมา 4 ปี

กานต์ ประพฤติชอบ ผู้ก่อตั้ง Ambient Group ผู้ออกแบบ ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่และกลไกทางด้านโรโบติกส์ หนึ่งในพันธมิตรจัดค่ายครีเอทีฟ เอไอ แคมป์ กล่าวว่า เยาวชนในปัจจุบันหรือกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล (Digital Native) อยู่แล้ว มีขีดความสามารถที่อาจจะพัฒนาองค์กร พัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีได้ดียิ่งกว่าคนรุ่นก่อนหน้า การจะหล่อหลอมหรือพัฒนาเยาวชนกลุ่มนี้ ต้องให้ข้อมูลทั้งเชิงความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางแก้ไขปัญหา เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ที่จะต้องเข้าไปช่วยเขาลับคม เพิ่มเติมประสบการณ์ ครีเอทีฟ เอไอ แคมป์ ถือเป็นค่ายหนึ่งที่พยายามช่วยให้เด็กๆ แหลมคมมากขึ้น โดยนำโจทย์ที่องค์กรขนาดใหญ่เจอจริงๆ ในภาคธุรกิจ มาขัดเกลา เรียนรู้ด้านการนำ เอไอมาช่วยแก้ปัญหา

ไพโรจน์ ร่วมวิบูลย์สุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด ผู้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Tech Enabler) หนึ่งในพันธมิตรจัดค่ายกล่าวว่า ในอนาคตเอไอจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกอุตสาหกรรม ตลอดจนเข้ามาช่วยวิเคราะห์ ตัดสินใจ ให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ การพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำในการตัดสินใจเสมือนบุคลากรเฉพาะทาง เช่น แพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่จำกัด หากมีการพัฒนาเอไอ โดยใช้องค์ความรู้จากแพทย์เฉพาะทาง จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและวิชาชีพที่บุคลากรมีอยู่อย่างจำกัดได้

ด้าน ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด ผู้ก่อตั้ง ซันเพล็กซ์ กรุ๊ป บริษัทผู้พัฒนาผลงานด้าน AR และ VR หนึ่งในพันธมิตรจัดค่ายกล่าวว่า เด็กๆ Gen Z เป็นกลุ่มที่ฉลาดมาก สิ่งที่ต้องช่วยเข้าไปเติม คือการมองภาพรวม ให้เด็กๆ เข้าใจภาพกว้างของเทคโนโลยี กระบวนการทำงาน เทคโนโลยีแกนกลาง เช่น AI, Blockchain, Smart Contract, IoT

ทั้งนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ฮาร์ดดิสก์มีขนาดเล็กลงหลายพันหลายหมื่นเท่า เก็บไฟล์ได้ใหญ่ขึ้นเป็นล้านเท่า ในปัจจุบันไปจนถึงอีก 10-20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ทันทีที่เราหยุด คือถอยหลัง ทุกคนเดินแซงเราหมด เด็กๆ จึงต้องแม่นในการมองภาพรวม และตระหนักถึงเรื่อง ไลฟ์ลอง เลิร์นนิ่ง เพื่อให้ปรับตัวทันโลกที่ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทุกด้านมากยิ่งขึ้น

ภาณิน เพียรโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง OZT Robotics ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ AI ครบวงจรสำหรับองค์กร และหนึ่งในพันธมิตรจัดค่าย กล่าวว่า เยาวชน Gen Z ในวันนี้ จะกลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร และขับเคลื่อนประเทศในวันข้างหน้า โดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่ยังต้องการบุคลากรทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจำนวนมากในอนาคต ประเทศยังต้องการบุคลากรมาช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องประยุกต์เข้ากับบริบทประเทศไทยหรือภาษาไทย เช่น การจดจำด้วยเสียง (Voice Recognition) การจดจำด้วยภาพ (Image Recognition)

“ทักษะทางดิจิทัลจะเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเยาวชนยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเป็นทุกคน แต่ต้องมีตรรกะทางเทคโนโลยี เข้าใจว่าทำไมคอมพิวเตอร์ถึงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ เหมือนที่เราเข้าใจธรรมชาติว่าทำไมน้ำถึงเดือด เพื่อที่จะได้รู้ว่า จะนำไปต่อยอดอย่างไร” ภาณินกล่าวในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน