“ผ้าปะลางิง” ผ้าทอมือพื้นเมืองลายโบราณ มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี จากฝีมือภูมิปัญญาชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มี อัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยการใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วย “บล็อกไม้” และแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และศาสนา เกิดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดต่อกันมา

ด้วยความตระหนักในคุณค่าภูมิปัญญาการทำผ้าโบราณ อาจารย์ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองปะลางิง ชาวจังหวัดยะลา ร่วมกับกลุ่มศรียะลาบาติก ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนพัฒนาสร้างสรรค์กระบวนการผลิตจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล

อาจารย์ปิยะเล่าว่า ศรียะลาบาติกเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ด้วยแรงบันดาลใจของพวกเราที่อยากจะร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาและกรรมวิธีการผลิตผ้าพื้นเมืองลายโบราณที่สูญหายไปร่วม 80 ปี หนึ่งในความตั้งใจที่สำคัญคือการต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมและพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยเข้ากับตลาดปัจจุบัน เอกลักษณ์ของลายทอผ้าปะลางิงคือการนำลวดลายโบราณมาประยุกต์ อาทิ ลวดลายมัสยิดโบราณ กระเบื้องโบราณ แม่พิมพ์ขนมโบราณ การละเล่นโบราณ นกเขา นกกรงหัวจุก ขณะที่การแกะแม่พิมพ์ไม้ใช้ไม้ขาวดำที่ใช้ทำกรงนก เพราะมีคุณสมบัติที่แข็งและเหนียวทำให้แกะเป็นลายเส้นเล็กๆ ได้

“กว่าจะได้ผ้าผืนหนึ่งต้องรวมทุกเทคนิคของการทำผ้าบาติกไว้ในผ้าผืนเดียว ประกอบด้วยการทอ มัดย้อม การพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้ การเขียนเทียน (จันติ้ง) กัดสี ปิดสี และเพนต์สี ส่วนเนื้อผ้ามีลักษณะเป็นผ้าทอไหมผสมฝ้าย เส้นยืนคือฝ้าย ส่วนเส้นพุ่งใช้เส้นไหม ทอเป็นลายลูกแก้วซ้อนกัน เริ่มจากกระบวนการทอต่อด้วยการมัดย้อมดอกลายบางๆ นำมาขึงแล้วเขียนทับสีที่มัดย้อม นำมาล้างสีออกให้เหลือลายที่เขียนทับด้วยเทียน ตามด้วยการลงสีพื้นทับทั้งหมด เตรียม แม่พิมพ์ไม้สำหรับการพิมพ์ (แกะเอง) ลงสีตามช่องตัวลายที่พิมพ์ลงไป ในส่วนหัวผ้าจะปิดเทียนและลงสีเพิ่มเพื่อเพิ่มมิติให้ตัวลาย หัวผ้าจะเขียนและโชว์ลายมากกว่าตรงส่วนอื่น เมื่อลงสีทั้งหมดแล้วรอให้ผ้าแห้งแล้วเคลือบทับด้วยโซเดียมซิลิเกต (กระบวนการเดียวกับการทำผ้าบาติก) ปล่อยให้แห้ง นำไปล้าง ต้มเอาเทียนออก แล้วซักล้างให้สะอาด” อาจารย์ปิยะกล่าว

ก่อนเล่าต่อว่า เป็นที่น่ายินดีที่เมื่อปี 2558 กลุ่มศรียะลาบาติกได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยร่วมกับดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ หิรัญพฤกษ์ ภัทรบริบูลย์กุล มาช่วยพัฒนาความรู้จนสามารถประยุกต์ลวดลายให้เข้ากับยุคสมัย จากนั้นพวกเรานำมาปรับใช้ในด้านการออกแบบลายผ้าและกำหนดเทรนด์สีจากสีธรรมชาติจนสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และลวดลายใหม่ๆ ขณะนี้มีมากกว่า 200 แบบ ทุกลายมีเรื่องราวเรื่องเล่าทั้งหมด นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชนต่างๆ

“ผ้าสามารถช่วยเหลือชุมชนได้ หล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านได้ การได้ทำสิ่งที่เรารัก สร้างอาชีพให้คนในชุมชนมีรายได้ นั่นคือความภาคภูมิใจและความสำเร็จของผม อยากให้คนไทยรับรู้ว่าปะลางิงเป็นวัฒนธรรมที่คุณสวมใส่ เป็นผ้าที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีความงดงาม และเมื่อได้ใช้ก็ยิ่งภาคภูมิใจที่เราได้ใช้ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้” ครูภูมิปัญญาผ้าพื้นเมืองปะลางิงกล่าวปิดท้าย

ติดตามผลงานและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มศรียะลาบาติกได้ทางเพจ เฟซบุ๊ก SriYala-Batik, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย #เล่าเรื่องผ้าไทยร่วมสมัย โทร. 08-4165-2312, 08-7837-4007

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน