ผลพวงจากการเอาจริงเอาจังกับงานสร้างชีวิตและสร้างอาชีพที่ดีให้กับชาวบ้าน วังร่อง หมู่ 5 ต.ห้วยไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ของ นายธีร์ธวัช บุญจีน วัย 48 ปี ครูศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.หล่มสัก สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จ.เพชรบูรณ์ ที่มาประจำกศน.ต.ห้วยไร่ ทำให้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่งผลให้ ครูธีร์ หรืออาจารย์ธีร์ ของลูกศิษย์คว้ารางวัล ผู้มีผลงานดีเด่น สาขาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ปี 2564 โดยร่วมกับ นายไพทูลย์ อินหา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านวังร่อง หมู่ 5 ต.ห้วยไร่ ที่มีดีกรีสาขาบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ช่วยกันส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์

พร้อมทั้งหาตลาดให้เสร็จสรรพ สามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านวังร่อง ผลผลิตส่วนใหญ่ขายให้ กับทางเลมอนฟาร์ม โดยเกษตรกรจะมาขาย ให้กับกลุ่มขายทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี นอกจากนี้ ก็มีลูกค้ารักสุขภาพมาซื้อถึงแปลง

ผู้ใหญ่ไพทูลย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์ว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านทำเกษตรแบบทุนนิยมใช้สารเคมี ทำให้มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดเยอะ อย่างตนเองคุณหมอบอกอยู่ในเกณฑ์อันตราย ถ้ายังขืนทำอยู่อาจเสียชีวิตได้ ตนทำเกษตรเคมีมาตั้งแต่อายุ 20 ปี มาเป็นผู้ใหญ่บ้านตอนอายุ 39 ปี รู้สึกสุขภาพไม่ดี เหนื่อยง่าย อ่อนแรง ถึงขั้นวูบหมดสติกลางแปลงผัก พอเข้าโรงพยาบาลหมอตรวจเลือด ก็มีแต่สารเคมี

อย่างไรก็ตาม ตนโชคดีได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ทำให้มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง จึงกลับมาทำที่แปลงของตัวเองเมื่อปี 2560 เพราะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่าการจะให้คนอื่น ทำอะไรตาม ต้องทำให้คนอื่นดูก่อน

ดังนั้น เลยสร้างปัจจัยการผลิตเองทุกอย่าง ในพื้นที่ 5 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ขุดสระ แปลงผัก นาข้าว ไม้ผล นอกจากนี้ก็มีที่อยู่อาศัยปศุสัตว์และโรงบรรจุภัณฑ์ด้วย ในส่วนไม้ผลเป็นสวนแบบผสมผสาน มีกล้วย ฝรั่ง มะพร้าว มะม่วง ส้มโอ ไผ่ และมีไม้เศรษฐกิจ อย่างเช่น มะฮอกกานี ปลูกแบบผสมผสาน ให้ธรรมชาติอยู่ร่วมกัน

ตอนนี้กลุ่มมีสมาชิก 83 คน แต่ที่ได้มาตรฐานอินทรีย์ ของเลมอนฟาร์มมีอยู่ 33 คน บางส่วนอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน ทางกลุ่มไม่เน้นปริมาณเป็นที่ตั้ง เน้นว่าต้องสร้างปัจจัยการผลิตเองทุกอย่าง อย่างเช่น ปลูกข้าวกินเอง สมาชิกไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในหมู่ 5 วิสัยทัศน์ของกลุ่มคือพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรฐานกลุ่มคือปลูกแบบอินทรีย์ มีใจเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีแค่ 4 ข้อนี้ก็ควบคุมมาตรฐานทั่วโลกได้เลย แค่คุณธรรมตัวเดียวจบเลย

ผู้ใหญ่ไพทูลย์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเกษตรเคมีกับเกษตรอินทรีย์ว่าแตกต่างกันมาก เพราะการทำแบบเคมีใช้เงินทุนเป็นหลัก ทุกสิ่งทุกอย่างต้องซื้อหมด ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินมากมาย เกษตรกรหลงผิดเริ่มตั้งแต่ตอนที่ลงทุนไปซื้อของ จ้างทำโน่นทำนี่ แต่ไม่จดบัญชีต้นทุน ยกตัวอย่างเกษตรกรปลูกกะหล่ำ 3 ไร่จ้างตั้งแต่ต้นกล้า จ้างปลูก จ้างเก็บ จ้างดูแลรักษา และจ้างขาย รวมทั้งซื้อปุ๋ยมาก็ไม่เคยจดทำบัญชี พอขายกะหล่ำ 3 ไร่ได้เงิน 100,000 บาท บอกว่าได้กำไร 100,000 บาท แต่ต้นทุนไม่เคยคิด พอได้เงินแสนบาทก็เอามาใช้ หนี้เดิมก็ยังไม่หมดต้องกู้ใหม่ แต่พอมาทำแบบเกษตรอินทรีย์ รายได้จะไม่เป็นเงินก้อนเหมือนทำเกษตรเคมี แต่ไม่มีค่าใช้จ่ายในต้นทุนเลย ตอนนี้ต้นทุนลดได้ 95% ปัจจัยการผลิตก็สามารถผลิตเองในกลุ่มได้ทั้งหมด โดยเลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ยมูลไส้เดือนใช้เอง และสมาชิกก็เลี้ยงไก่ไข่กันทุกครัวเรือน

หลายคนอาจมองว่าการปลูกผักสลัดแบบลงดินไม่มีโรงเรือน เป็นเรื่องยาก ผู้ใหญ่ไพทูลย์แจงว่าถ้าเทียบกับพวกคะน้า ผักกาดขาว หรือกวางตุ้ง ผักสลัดปลูกง่ายกว่า แต่ต้องปรุงดินโดยใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ที่ทำเกษตรแบบเคมีดินตายไม่มีชีวิต จึงต้องมาห่มดินด้วยฟาง เริ่มจากไถหน้าดินไว้แล้วนำฟางมาห่มหนา 1 คืบหรือ 15 ซ.ม. จากนั้นโรยด้วยปุ๋ยคอกด้านบนฟาง แล้วฉีดน้ำจุลินทรีย์ รดน้ำแบบนี้ จนกระทั่งฟางและปุ๋ยคอกย่อยสลายไปเป็นดิน ใช้เวลา 2 เดือนถ้าเป็นหน้าฝน หน้าแล้ง 3 เดือน แล้วค่อยมาไถพรวนก่อนปลูก ส่วนการดูแลรักษาผักสลัด โดยปกติศัตรูธรรมชาติของผักสลัดไม่ค่อยมี หนอนแมลงไม่ค่อยรบกวน วิธีปลูกแบบอินทรีย์เริ่มจากนำเมล็ดมาเพาะในตะกร้าอนุบาล หลังจาก 7 วันย้ายไปในถาดหลุม 200 หลุม พอครบ 7 วันย้ายปลูกในแปลง แต่ต้องเตรียมแปลงก่อน โดยขุดดินไว้เป็นร่องแล้วโรยด้วยปุ๋ยพืชสดที่ทำขึ้นมาเอง อย่างปุ๋ยมูลไส้เดือน แม้แต่แหนแดง สมาชิกก็เลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงแหนแดง ทำเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดิน ส่วนการกำจัดแมลงก็ใช้น้ำส้มควันไม้ที่ผ่านการกลั่นร่วมกับสมุนไพรที่มีทั้งตะไคร้หอม ข่าแก่ และบอระเพ็ด

ผักสลัดประเภทต่างๆ หลังจากย้ายต้นกล้าไปลงแปลงไม่เกิน 30 วันก็เก็บได้ รวมแล้ว ใช้เวลาปลูก 40-45 วัน ซึ่งทางกลุ่มรับซื้อผัก ทุกชนิดในราคาประกันเฉลี่ยก.ก.ละ 50 บาทตลอดปี ถ้าขายอยู่ตลาดนอกก.ก.ละ 40 บาท

“ในอ.หล่มสักมีกลุ่มผักวังร่องกลุ่มเดียวที่ปลูกแบบอินทรีย์ ชื่อเสียงของเราเป็นที่รู้จักดีเนื่องจากได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในการประกวดหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองอยู่เย็น เราได้รองชนะเลิศระดับประเทศ และในการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ”

ทั้งนี้ กลุ่มวางแผน 3 ปี ปีแรกพัฒนาด้านการผลิต ปีที่ 2 พัฒนาด้านการตลาด เกษตรกรสามารถขายผ่านตลาดออนไลน์ได้เอง ปีที่ 3 พัฒนาด้านแปรรูป และในอีก 3 ปีข้างหน้านี้จะต้องมีมาตรฐานของเราให้ตลาดยอมรับคือ ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม ‘พีจีเอส (PGS)’ เพราะทุกวันนี้ตลาดส่วนใหญ่อ้างอิงแต่มาตรฐานแบบ Organic Thailand ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีองค์ความรู้และเข้าถึงได้น้อยมาก
สนใจผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม ติดต่อผู้ใหญ่ไพทูลย์ได้ที่โทร. 08-8780-8548

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน