วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยช้ำหนัก รับศึกรัสเซีย-ยูเครน วางสมมติฐาน 3 ด้าน ร้ายแรงสุดกรณียืดเยื้อถึงกลางปี จีดีพีไทยวูบหนัก 2.4% ด้านเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 5 เดือน
วิจัยกรุงศรีรายงานว่า วิกฤตราคาพลังงานผลพวงจากสงครามรัสเซียกับยูเครน กดดันความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนก.พ. อ่อนแอลง สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 43.3 จาก 44.8 ในเดือนม.ค. เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 86.7 จาก 88.0 ในเดือนก่อน

โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่เพิ่มขึ้นสูงอาจกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากกระทบต่อต้นทุนการผลิตค่าขนส่ง และเพิ่มภาระค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้น

วิจัยกรุงศรีประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จำแนกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1.การสู้รบ ยุติภายในเดือนมี.ค. ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แบนการค้าและธุรกรรมทางการเงินของรัสเซียบางส่วนไปจนถึง สิ้นปีนี้
2.การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2/2565 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น มีการแบนสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานจากรัสเซียทั้งหมด
และ 3.การสู้รบยืดเยื้อและขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นจนถึงกลางปี 2565 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยังยุโรป จนนำไปสู่วิกฤตพลังงานขึ้นในยุโรป โดยช่องทางการส่งผ่านผลกระทบหลักมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ การค้าและการขนส่ง ความมั่นคงด้านพลังงาน เสถียรภาพด้านราคา และผลจากรายได้และตลาดการเงิน

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) คำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยผลต่อไทย พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 0.4% 1.1% และ 2.4% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่คาดไว้ 1.4% 2.3% และ 3.5% ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงจากกรณีฐาน 1.1% 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ

ในส่วนของผลต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโลหะและพลังงาน
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ธุรกิจน้ำตาล เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน