ปี 2566 จะเริ่มก่อสร้างโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ ในพื้นที่คลองหก ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบผูกพันข้ามปีงบประมาณปี 2566 จำนวน 1,109 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การ สวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(อสส.) ในการก่อสร้างสวนสัตว์บนที่ดินพระราชทานจำนวน 300 ไร่ เป็นการดำเนินงาน ระยะยาวประมาณ 5 ปี

แต่ระหว่างรอการก่อสร้าง องค์การสวนสัตว์ฯ ได้จัดทำโครงการสวนสัตว์เพื่อชุมชน หรือ “Mini Zoo” บนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ภายในพื้นที่โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ เพื่อให้เป็นโครงการพิเศษ มีลักษณะเป็นสวนสัตว์ชั่วคราว ขนาดเล็ก

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวว่า ใน Mini Zoo นำสัตว์มาจัดแสดง 7-8 ชนิด อาทิ นกกระเรียนไทย หนูยักษ์คาปิบารา ลิงกระรอก ลีเมอร์ เม่น เต่าซูคาต้า และ เต่าบึงหัวเหลือง เป็นต้น สัตว์เหล่านี้นำมาจากสวนสัตว์ในสังกัดขององค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่การศึกษา แหล่งเรียนรู้ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่โครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่

ส่วนสัตว์ที่นำมาจัดแสดง อยู่ภายใต้การดูแลของทีมสัตวแพทย์ ขององค์การสวนสัตว์ฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดูแลด้านคุณภาพ ชีวิตสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการปรับตัวของสัตว์แต่ละชนิด และยังได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้เป็นตลาดนัดสินค้าชุมชน และตลาดต้นไม้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบโครงการอีกทางหนึ่งด้วย

โดยเปิดบริการให้เข้าชมฟรีทุกวันตั้งแต่ 13 มี.ค.2565 ผู้เข้าชม ต้องแสดงผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม หากยัง ไม่ได้ฉีด สามารถโชว์ผลการตรวจ ATK ระยะเวลาไม่เกิน 72 ช.ม.
สอบถามข้อมูลได้ที่ โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ โทร. 08-3963-9696 หรือติดตามข่าวสารในเฟซบุ๊ก ขององค์การสวนสัตว์ฯ หรือ เฟซบุ๊กของโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่

สําหรับโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ ที่คลองหก จ.ปทุมธานี จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ภายใต้แนวคิดจัดทำเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยระดับนานาชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ครบถ้วนในระดับสากล เป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าในและนอกถิ่นอาศัย ระบบภูมินิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ศึกษาวิจัยและเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ
รวมถึงเป็นแหล่งนันทนาการรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เผยว่า ที่ดินพระราชทานกว่า 300 ไร่ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้กับพสกนิกร ชาวไทย ดังนั้นทุกขั้นตอนการก่อสร้าง การออกแบบ ด้วยเงินทุกบาททุกสตางค์ในที่แห่งนี้ จะต้องคุ้มค่าที่สุด

สวนสัตว์แห่งนี้จะเป็นประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนคนไทย เด็กๆ จากทั่วสารทิศจะได้เห็นสวนสัตว์ในสิ่งใหม่ๆ ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ที่ดี ขณะเดียวกันประชาชนที่อยู่รอบบริเวณสวนสัตว์ คลองหก จ.ปทุมธานี จะได้รับการสนับสนุน เช่น การสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรมาเป็นอาหารสัตว์ การสนับสนุนเปิดร้านวิสาหกิจในชุมชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สิ่งสำคัญคือ เราเน้นความสุขของสัตว์เป็นหลัก หากพูดถึงสวนสัตว์ทั่วไปจะเห็นได้ว่าคนจะอยู่ในที่ใหญ่ สัตว์จะอยู่ที่เล็ก แต่สวนสัตว์ที่นี่จะเน้นความสะดวกสบายของสัตว์ การวางแผนการก่อสร้าง และการวางระบบต่างๆ ภายในสวนสัตว์ ตั้งแต่โครงสร้างโดยรวมของสวนสัตว์ต้องมีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับธรรมชาติของสัตว์แต่ละสายพันธุ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่แออัด และมีความปลอดภัย
ส่วนความสวยงาม ความสมบูรณ์แบบของสวนสัตว์จะอยู่ทั่วทุกบริเวณ กระทั่งแบ๊กออฟฟิศก็ยังเป็นจุดขายหรือจุดโชว์ได้เช่นกัน

“เราจะสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ เพื่อยกระดับสวนสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่เป็นศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ของไทย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจ.ปทุมธานีด้วย” นายวราวุธกล่าว

ด้านนายอรรถพรกล่าวเพิ่มเติมว่า สวนสัตว์แห่งใหม่แบ่งเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย 1.พื้นที่สวนสาธารณะ 2.พื้นที่ส่วนพาณิชย์ 3.พื้นที่ส่วนป้องกันน้ำท่วม 4.พื้นที่ส่วนวิจัย 5.พื้นที่ส่วนจอดรถ และ 6.พื้นที่ส่วนจัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชีย โซนออสเตรเลีย โซนอเมริกาใต้ และสวนสัตว์เด็ก

การดำเนินการในเฟสแรกใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ลำดับแรก คือ การป้องกันน้ำท่วม การทำสาธารณูปโภค และการปรับปรุงพื้นที่ เช่น การปรับแก้ดินเปรี้ยว โดยใช้ทฤษฎีแกล้งดิน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรองรับการปลูกต้นไม้

ภายหลังการแก้ดินเปรี้ยวเสร็จ จะเริ่มลงต้นไม้ในปีที่ 3 ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น โซนแอฟริกาจะต้องลงไม้ใบชนิดใด สัตว์อยู่ในเขตร้อนชื้นต้องเป็นต้นไม้ชนิดใด เฉพาะพื้นที่การปลูกต้นไม้จะกินพื้นที่ประมาณ 40% ของพื้นที่ทั้งหมด

ส่วนโครงสร้างพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี มีเส้นทางสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการภายในสวนสัตว์ที่มีความเหมาะสม การเดินทางมายังสวนสัตว์จะต้องสะดวก มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับในหลายช่องทาง

ด้านหน้าสวนสัตว์เรากันพื้นที่ประมาณ 10-15% ของพื้นที่ หรือประมาณ 30 ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะของประชาชน ไม่ต้องเสียค่าบริการ สามารถมาเดินเล่น ออกกำลังกาย และมีอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เยี่ยมชมศึกษาความรู้ด้วย

นายอรรถพรย้ำว่า หลักการจัดสวนสัตว์รูปแบบใหม่จะคืนสภาพถิ่นที่อยู่ของสัตว์ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ส่วนพื้นที่ที่คนจะไปเที่ยวจะน้อยกว่าบริเวณที่สัตว์อยู่อาศัย สัตว์จะมีความสุขสบาย
เพราะนี่คือการจัดการรูปแบบสวนสัตว์สมัยใหม่

นนทวรรณ มนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน