ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดประมาณการจีดีพีเหลือ 3.2% ห่วงเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงสูงต่อเนื่องอีก 6 เดือน จากค่าครองชีพสูง-โควิดระบาดไม่จบ คาดตัวเลขหนี้เสียยังเพิ่ม

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อปลายเดือนมี.ค.2565 ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ อยู่ที่ 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% และปี 2566 อยู่ที่ 4.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% มีปัจจัยเสี่ยง คือ ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน และการระบาดของโควิด-19

“ปัญหารัสเซีย-ยูเครน กระทบผ่านราคาพลังงานและราคาสินค้าส่งผลมายังต้นทุนการผลิต กำลังซื้อ ค่าครองชีพให้เพิ่มสูงขึ้น”

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น ไม่กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเท่าระลอกเดลตา จึงคาดว่าน่าจะไม่มีมาตรการควบคุมในลักษณะที่เข้มงวดในวงกว้าง รวมทั้งการทยอยผ่อนคลาย และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นไปตามคาดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2565 ดังนั้นจึงคาดว่าในปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ที่ 7% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 1.5% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ อยู่ที่ 5.6 ล้านคน

นายสักกะภพกล่าวอีกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงระยะสั้นช่วง 6 เดือนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหา global supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าคาด, ผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากจนกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน, การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ยังพอจะมีปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่ากรณีฐาน คือ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวขึ้นสูงกว่าคาดที่ระดับ 4.9% และปีหน้าที่ 1.7% คาดว่าในช่วงไตรมาส 2-3/2565 อาจสูงกว่า 5% ก่อนจะปรับลดลงมาในช่วงไตรมาส 4/2565 ถึงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานที่ปรับสูงมาก และการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารโดยคาดว่าเงินเฟ้อจะทยอยลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปีหน้า

นอกจากนี้ ประเมินว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของธปท. (มาตรการ 3 ก.ย.) ตัวเลขหนี้เสียคงมีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพิ่มในลักษณะก้าวกระโดด ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินมีการติดตามดูแลเรื่องการกันสำรอง และเงินกองทุนที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่า โดยน้ำหนักสำคัญคือต้องทำให้มั่นใจว่ารายได้ของครัวเรือนกลับมาได้เร็ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไม่สะดุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน