ทวิตเตอร์จะมีอะไรเปลี่ยนไป ซีเน็ตรายงานคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ หลังนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันร่ำรวยที่สุดในโลก ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอวกาศพลเรือนอย่าง สเปซเอ็กซ์ และค่าย ยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าอันลือลั่นอย่าง เทสล่า เข้าซื้อทวิตเตอร์ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท (4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สร้างแรงกระเพื่อมให้แวดวงไอทีและโซเชี่ยลมีเดีย

การเข้าซื้อหุ้นสัดส่วนร้อยละ 9.2 ส่งผลให้นายมัสก์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของทวิตเตอร์ หลังเจ้าตัวเคยระบุว่า “เสรีภาพในการพูดเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย และ ทวิตเตอร์เป็นเหมือนลานชุมชนออนไลน์ที่หัวข้อสนทนา อันสำคัญต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติถูกนำมาหยิบยกเพื่อดีเบตกัน”

ที่ผ่านมา นายมัสก์เสนอและถามผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่อเนื่องถึงไอเดียที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ทวิตเตอร์ รวมถึงตั้งโพลสอบถามผู้ใช้หลายครั้ง สร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงไอทีอย่างกว้างขวางด้วยผู้ติดตามกว่า 83 ล้านคน เป็นตัวเลขสูงยิ่งกว่าของ นายปารัก อักราวัล ซีอีโอ ทวิตเตอร์ และ นายแจ๊ก ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์รวมกัน

แต่การทวีตแบบเปิดเผยตรงไปตรงมาของนายมัสก์มักก่อให้เกิดการถกเถียง หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาด้วย ยกตัวอย่างกรณี ทวีตข้อความละเมิดข้อบังคับด้านตลาดหลักทรัพย์

จนถูกคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบทรัพย์สินในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (SEC) ฟ้องร้องเมื่อปี 2561 สุดท้ายตกลงกันว่า ทวีตของมัสก์ต้องได้รับการยินยอมจาก SEC ก่อนทวีต

ทั้งหมดนำมาสู่การที่เว็บไซต์ซีเน็ตคาดการณ์ว่า อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่กำลังจะมาถึงในทวิตเตอร์ ได้แก่…

Tweak content moderation (การตรวจสอบเนื้อหาทวีต)
เนื้อหาที่ทวิตเตอร์อนุญาตและไม่อนุญาตให้ทวีต หัวข้อที่นายมัสก์วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนานต่อเนื่อง

มี.ค.ที่ผ่านมา นายมัสก์ตั้งโพลสำรวจผ่านทวิตเตอร์ ถามว่า “เสรีภาพในการพูดเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ท่านคิดว่าทวิตเตอร์ยึดมั่นตามหลักการข้อนี้หรือไม่” โดยมีผู้เข้าร่วมตอบกว่า 2 ล้านคน ร้อยละ 70 ระบุว่า “ไม่”

ขณะที่นายอักราวัลชี้แจงว่า เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอันเป็นมาตราแรกแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐไม่มีผลบังคับใช้กับบริษัทเอกชนที่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเอง

ซีอีโอทวิตเตอร์ (ตอนนั้นเป็นรองประธานฝ่ายเทคโนโลยี หรือซีทีโอ) ระบุว่า ทวิตเตอร์ ไม่ควรถูกบังคับด้วยมาตราแรกตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ แต่ควรถูกบังคับด้วยหลักการสร้างแหล่งสนทนาที่มีคุณภาพให้ผู้ใช้งานมากกว่า

นายมัสก์ทวีตถามต่อจากโพลดังกล่าวว่า ทวิตเตอร์เป็นเสมือนลานชุมชน แต่กลับล้มเหลว ในการยึดมั่นตามหลักเสรีภาพในการแสดง ข้อคิดเห็น ย่อมเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย ควรต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไร

หนึ่งในตัวอย่างที่สร้างความไม่พอใจมากให้กลุ่มผู้ใช้อนุรักษนิยมในทวิตเตอร์ คือการตัดสินใจของทวิตเตอร์ที่ห้ามอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้งานทวิตเตอร์อีกต่อไป

หลังอดีตประธานาธิบดีถูกครหามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุผู้สนับสนุนบุกรัฐสภาคองเกรส เพื่อประท้วงผลเลือกตั้งผู้นำเมื่อ 6 ม.ค. ซึ่งสื่อตะวันตกยกให้เป็นหนึ่งใน “วันอัปยศ” ที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของสหรัฐ

นายมัสก์ยังเคยระบุ ดัชนีชี้วัดว่าข้อบังคับของทวิตเตอร์อยู่ในเกณฑ์สมดุลดี คือต่อเมื่อทั้งกลุ่มซ้ายและขวาตกขอบที่นายมัสก์อ้างว่ามีอยู่ราวร้อยละ 10 ของผู้ใช้มีความไม่พอใจด้วยกันทั้งคู่ (ไม่ใช่แบบที่กลุ่มขวาจัดถูก เล่นงานฝ่ายเดียวแบบปัจจุบัน)

อย่างไรก็ดี การใช้เสรีภาพแสดงข้อคิดเห็นของนายมัสก์เคยละเมิดเงื่อนไขการใช้งาน ทวิตเตอร์หลายครั้ง เช่น การระบุว่า “เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19” ส่งผลให้ทวีตถูกระบบระบุเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่เป็นเช่นนั้น

Combat cryptocurrency scams (การจัดการพวกต้มตุ๋นเงินคริปโต)
นักต้มตุ๋น หรือสแกมเมอร์ หนึ่งในปัญหาใหญ่ของทวิตเตอร์ โดยเฉพาะหลังเงินสกุลดิจิตอล หรือคริปโต เริ่มนิยมแพร่หลาย แม้แต่บัญชีของนายมัสก์เองก็เคยถูกแฮ็กนำไปใช้หลอกลวงเงินคริปโตของผู้ใช้รายอื่นในปี 2563

นายมัสก์เคยทวีตกล่าวหาทวิตเตอร์ว่า ลงทุนและใช้เวลาไปกับฟีเจอร์ตกแต่งสวยงามมากกว่าต่อสู้กับเหล่าสแกมเมอร์ และสแปมบ็อตส์

นอกจากนี้ ยังเคยระบุหากตนเองเข้าซื้อ ทวิตเตอร์สำเร็จจะกวาดล้างสแปมบ็อตส์ เหล่านี้ โดยจะใช้ระบบพิสูจน์ตัวตนที่อนุญาตให้เฉพาะมนุษย์เข้าใช้ พร้อมย้ำ “ต่อให้ต้องตายก็จะทำให้สำเร็จให้ได้”

Release an edit button (ปุ่มแก้ไขทวีต)
ฟีเจอร์ปุ่มแก้ไขทวีต หนึ่งสิ่งที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากเรียกร้องมานานเพื่อใช้แก้ไขคำผิด ทว่าฟีเจอร์ดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญอยู่ลำดับแรกๆ ของทวิตเตอร์ อย่างไรก็ดี ทวิตเตอร์มีฟีเจอร์ ย้อนกลับ (Undo) ทวีตให้สำหรับ ผู้สมัครใช้งานรายเดือนบน “ทวิตเตอร์ บลู”

นายมัสก์ตั้งโพสต์สำรวจความคิดเห็นเรื่องนี้เมื่อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าต้องการปุ่มแก้ไขกัน หรือไม่ ผลปรากฏมีผู้เข้ามาตอบกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องการปุ่มดังกล่าวถึงร้อยละ 73.6 ขณะที่ทางทวิตเตอร์ตอบโต้ว่า อยู่ระหว่างการพัฒนามาตั้งแต่ปีก่อน และไม่ได้นำข้อมูลมาจากโพลสำรวจ

ขณะที่นายดอร์ซีย์ระบุสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับปุ่มแก้ไขว่า ทวิตเตอร์เปรียบเสมือนการส่งข้อความ (SMS) หากส่งไปแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้ โดยตนต้องการรักษาเอกลักษณ์ดังกล่าวของ SMS ไว้ในทวิตเตอร์

Open up Twitter’s algorithm (อัลกอริทึมแบบเปิดเพื่อผู้ใช้ช่วยปรับปรุง)
อัลกอริทึม (Algorithm) โค้ดรากฐานการคำนวณเงื่อนไขการทำงานของซอฟต์แวร์ กำลังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุดว่าชีวิตกำลังถูกควบคุมแทรกแซงด้วยอัลกอริทึม เช่นเดียวกับในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และแอพฯ โซเชี่ยลมีเดียอื่นๆ

ผู้ใช้บางกลุ่มต้องการเห็นทวีตแบบเรียงตามลำดับเวลามากกว่ามาจากการจัดการของอัลกอริทึม ว่าทวีตใดที่ผู้ใช้น่าจะสนหรือไม่สนใจ

เสียงเรียกร้องนี้ส่งผลให้ทวิตเตอร์ต้อง เพิกถอนระบบฟีดด้วยอัลกอริทึมเป็นค่า เริ่มต้นเมื่อมี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่นายมัสก์ระบุ อาจทำอัลกอริทึมของทวิตเตอร์มาเปิดเผยต่อสังคมให้เป็นอัลกอริทึมแบบเปิด ที่ผู้ใช้สามารถช่วยกันพัฒนาได้

สำหรับข้อนี้ นายดอร์ซีย์ที่ปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในทวิตเตอร์แล้วมีท่าทีเห็นด้วย โดยระบุว่า ผู้ใช้ควรมีสิทธิเลือกว่าต้องการใช้ฟีดแบบให้อัลกอริทึมเข้ามาช่วยหรือไม่

ทั้งนี้ นายมัสก์เคยระบุผ่านรายการทอล์กโชว์ชื่อดังอย่าง TED Talk ในสหรัฐ องค์กรสื่อที่นำเสนอทอล์กโชว์เพื่อเผยแพร่ทางโลกออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ควรมีสิทธิที่จะเห็นด้วยว่า ทวีตของตัวเองได้รับการโปรโมต หรือดีโมตโดยแพลตฟอร์มหรือไม่ เพื่อความโปร่งใส

ส่วนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร สำหรับหนึ่งในแอพฯ ที่มีผู้ใช้นิยมที่สุดในโลก ต้องติดตามกันต่อไป…

ทีมข่าวสดไอที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน