คณะกรรมการนโยบายการเงิน เสียงแตก 4 ต่อ 3 ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ส่งสัญญาณหมดยุคใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ พร้อมใส่เกียร์ 5 ปรับขึ้น ลดความร้อนแรงเศรษฐกิจ-ไม่ซ้ำเติมเงินเฟ้อพุ่ง

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.วันที่ 8 มิ.ย. 2565 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจและความเสี่ยง ด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามคาด จึงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้

โดย กนง. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ใหม่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จากเดิม 3.2% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากเดิม 4.4% และคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน จากเดิม 5.6 ล้านคน และปี 2566 มี 19 ล้านคน ส่วนมูลค่าส่งออกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 7.9% จากเดิม 7% ส่วนปี 2566 เป็น 2.1% จาก 1.5%

“การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมาจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ แม้การส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง รวมถึงผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และแรงส่งภาคการคลังที่เริ่มลดลง” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวว่า ขณะนี้หมดยุคการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมากๆ เป็นระยะเวลานานแล้ว กนง. จึงต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ไม่เป็นการเติมฟืนให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป และไม่ซ้ำเติมให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 2. ต้องพิจารณาระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และ 3. ผลกระทบต่อผู้ประกอบการหากมีการขึ้นดอกเบี้ย 1% คิดเป็นภาระต่อครัวเรือน 120 บาท เทียบกับอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นภาระครัวเรือน 850 บาท ซึ่งสูงกว่าภาระดอกเบี้ย 7-8 เท่า

อย่างไรก็ตาม กนง. คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงสุดในไตรมาส 3/2565 แต่จะไม่ถึง 2 หลักตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป ปีนี้จะอยู่ที่ 6.2% จาก 4.9% และปีหน้า 2.5% จาก 1.7%

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ต้องยอมรับ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเร็วหรือช้า กนง. คงติดตามประเมินสถานการณ์รอบคอบ ที่สำคัญต้องดูการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ย ต่างประเทศ เพราะหากมีส่วนต่างดอกเบี้ยต่างประเทศสูงกว่าไทยมาก จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออกมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะยังไปได้ดี โดยปีนี้ตั้งเป้าหมาย ส่งออกได้ 5-8% และได้หารือกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ว่าให้ภาคเอกชนพยายามเร่งส่งออกได้ 10% เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.5%”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน