หลังอภิปรายงบประมาณ กลุ่มไลน์สวัสดีวันจันทร์ข้าราชการเกษียณ ล้นไปด้วยคำบริภาษ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บ้างก็ว่าจะตัดงบบำเหน็จบำนาญ บ้างก็ว่าด้อยค่าข้าราชการ เปรียบเปรยเป็น “ช้างป่วย” หรือวิพากษ์วิจารณ์เป็นภาระของประเทศ

ไม่ทราบว่าหูยังได้ยินชัดไหม ไหงฟังแล้วจับไปกระเดียด หรือเพราะมันเป็นพรรคก้าวไกล ที่ผู้สูงวัยมองว่าจ้องรื้อล้าง แต่ข้อแรก ไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะลดละเลิกบำเหน็จบำนาญ มีอำนาจรัฐประหารยังยกเลิกไม่ได้เลย (เพิ่มเงินบำนาญอีกต่างหาก เพราะประกาศกฎอัยการศึกนับอายุราชการทวีคูณ)

“ช้างป่วย” พิธาก็พูดชัดเจนอยู่แล้วว่า หมายถึงวิธีการจัด งบประมาณ รายจ่ายแข็งตัว รายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สายเกินแก้

เรื่องนี้ไม่ใช่พิธาพูดคนแรก เมื่อเดือนมีนาคม กระทรวงการคลังก็รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี ชี้ว่า “รายจ่ายที่ยากลดทอน” ปรับตัวสูงขึ้นจาก 52.12% ในปี 2555 เป็น 57.86% ในปี 2564 โดยรายจ่ายที่ยากลดทอนนี้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้, ค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ, สวัสดิการบำเหน็จบำนาญบุคลากรภาครัฐ (ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.43% ในปี 2557 เป็น 13.68% ในปี 2564) และสวัสดิการประชาชน ได้แก่เบี้ยยังชีพต่างๆ บัตรทอง ประกันสังคม ฯลฯ ซึ่งขยายตัวจาก 9.78% ในปี 2560 เป็น 12.79% ในปี 2561 ที่ออกบัตรคนจน

ขณะที่งบปี 2566 มีรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ทั้งเงินเดือนสวัสดิการ 1,261,699 ล้านบาท คิดเป็น 39.61%

ในสถานการณ์ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ถ้าประเทศไม่สามารถหารายได้เพิ่ม มีแต่หนี้พอกพูน กับรายจ่ายบุคลากรเพิ่มสูง ก็เห็นชัดๆ ว่าไม่ใช่แค่ช้างป่วย แต่จะเป็น “ช้างตาย”

ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ที่พ่อแม่เป็นครู พี่-น้อง เป็นข้าราชการ ขอยืนยันว่าปัญหาไม่ได้มาจากข้าราชการที่เป็นบุคคล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก “ระบบราชการ” ซึ่งถ้าไม่ผ่าตัดใหญ่โดยเร็ว ก็ Chip หายแน่นอน

ยกตัวอย่าง ระบบราชการปัจจุบัน สามารถลดกำลังคนลง 1 ใน 3 โดยทำให้มีประสิทธิภาพได้มากกว่าด้วยซ้ำ แต่มันเป็นปัญหาระบบ ไม่ใช่ความผิดข้าราชการ ดังนั้นความ Chip หายยิ่งกว่าคือ เราไม่สามารถไล่ข้าราชการออกทันที 8 แสนคน กว่าจะลดอัตรา เออร์ลี่รีไทร์ ลดรับคนใหม่ ฯลฯ อาจต้องใช้เวลา 20 ปีขึ้นไป

กลาโหมมีนายพล 2 พันกว่าคน ลดเหลือ 500 ยังล้นเกิน แต่ต้องใช้เวลากี่ปี

นับหนึ่งวันนี้ก็ยัง Chip หายอีก 20 ปี โดยยังไม่มีทีท่าจะว่าจะนับหนึ่งด้วยซ้ำ สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะหน่วยงานที่ต้องลดกำลังคนลงเยอะที่สุด คือหน่วยที่มีอำนาจ เช่น ทหาร มหาดไทย

กองทัพเป็นต้นแบบของหน่วยราชการที่มีกำลังพลล้นเกิน จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่นพิธาเคยอภิปรายว่า สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย มีหน่วยงานด้านบริหาร ธุรการ การเงิน และกฎหมาย ซ้ำกันเอง ถ้ายุบได้จะประหยัดงบปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กองทัพบกมีกำลังพล 2.6 แสนคน ใช้ปกป้องชายแดนดูแลความมั่นคง 6 หมื่นคน เป็นส่วนสนับสนุน 1.6 แสนคน ที่เหลืออีก 1 แสนคนเป็นงานธุรการ-การเงิน-เอกสาร

ยิ่งกว่านั้น กองทัพยังมีหน่วยงานตกค้างจากยุคสงครามเย็นเมื่อสี่สิบปีก่อน จบภารกิจแล้วไม่ยอมยุบ อ้างว่าใช้เพื่อความมั่นคงภายใน จนทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐอย่าง กอ.รมน. เกิดกองกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ บรรเทาสาธารณภัย ที่ต้องใช้งบซื้ออาวุธด้วยซื้อรถ ดับเพลิงด้วย

หันไปทางฝ่ายปกครอง รู้หรือไม่ว่า บุคลากรที่เพิ่มเยอะมากในสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือ อปท. ซึ่งไม่ผิดเพราะต้องเพิ่มภารกิจ ต้องถามย้อนต่างหากว่าทำไมมหาดไทยไม่ลดกำลังคนลดโครงสร้างส่วนภูมิภาค

ว่าที่จริง ข้าราชการบำนาญน่าจะรู้ดี ว่าระบบราชการมีปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนล้นเกิน ทั้งที่บางส่วนก็ขาดแคลนและทำงานหนัก เช่น ศธ.จำกัดงบ ร.ร.ขนาดเล็ก ต้องใช้เงินบริจาคจ้างครูช่วยสอนเดือนละ 3,800 บาท แต่ยุค คสช.กลับไปเพิ่มตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด ทับซ้อน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพิ่มงบสร้างสำนักงานพร้อมอุปกรณ์ครุภัณฑ์ (ตอนนี้จะยุบก็โดนต่อต้าน)

จะว่าระบบราชการโบราณล้าหลัง แต่ยุคปัจจุบันก็ไม่เหมือนสมัยพ่อแม่ผมเป็นครู ชั้นตรี โท เอก ซึ่งชั่วๆ ดีๆ ก็อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน สมัยนี้แยกบัญชีเงินเดือนแต่ละประเภท เช่น ศาล อัยการ องค์กรอิสระ ทหาร ตำรวจ ครู องค์การมหาชน ฯลฯ แล้ว ต่างคนก็ต่างสร้างอาณาจักร กำหนดตำแหน่ง ขั้นเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม ฯลฯ ยิ่งมายิ่งเหลื่อมล้ำสูงมาก

ข้าราชการพลเรือนที่เหลืออยู่ก็ต้องดิ้นรน เบ่งตำแหน่งไม่ให้ตัน กระทั่ง “สมองบวม” เพิ่มซี 9 ซี 10 ได้ไม่จำกัด โดยเปลี่ยนเป็นตำแหน่งเชี่ยวชาญ-เชี่ยวชาญพิเศษ

ความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการแต่ละประเภทเปรียบเทียบง่ายๆ จากค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่ง ปลัดกระทรวง 41,000 บาท อธิบดี 31,800 บาท กระทรวงต่างๆ ได้อย่างมากยี่สิบกว่าล้านบาท แต่กลาโหมได้ 550 ล้าน เพราะตำแหน่ง เทียบเท่าปลัดกระทรวง-อธิบดี มีเพียบ นี่ยังไม่พูดถึงผู้พิพากษา อัยการ องค์กรอิสระ ซึ่งเฉพาะศาลยุติธรรม ได้ค่าตอบแทนเท่าปลัดกระทรวง พันกว่าคน

ข้าราชการบำนาญก็น่าจะรู้ดีถึงความเหลื่อมล้ำ กระทั่งวิธีคำนวณบำนาญ ซึ่งตำรวจทหารนับอายุราชการตั้งแต่เข้าโรงเรียน

ทหารบางคนอยู่บ้านหลวงน้ำไฟฟรีได้ตลอดชีวิต ข้าราชการได้สิทธิอย่างนี้หรือเปล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน