เพชรใน ‘พระเหนือพรหม’

ฝึกจิต

ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีผู้นำพระเครื่อง มาถวาย 1 องค์ คือ “พระเหนือพรหม” ของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา มองไปมองมาก็เห็นรูปพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนมวยผมของท้าวมหาพรหม คนที่นำพระมาถวายก็เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่เขาประสบมาให้ฟังมากมายเกี่ยวกับพระเหนือพรหมองค์นี้ ที่ถือว่ามีค่านิยมสูงเป็นลำดับแรกสุดในบรรดาพระเนื้อผงพุทธคุณของหลวงปู่ดู่

เมื่อได้ยินชื่อของพระก็รู้สึกชอบใจ เพราะคนส่วนใหญ่มักเชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” เชื่อหมอดู เชื่อการทำนายทายทัก บ้างหลงหนักขนาดจะทำอะไรแต่ละอย่างต้องตามหมอดูมาดูให้ทุกย่างก้าว! แต่ จนแล้วจนรอดชีวิตก็ยังมีความทุกข์ ที่ขาดหมอดูไม่ได้สักที! พอมีคำว่า “พระเหนือพรหม” ขึ้นมา ก็ถือว่าสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม และกรรมนั่นเองที่สร้างภพสร้างชาติ สร้างดีชั่ว สร้างรวยจน สร้างสำเร็จผิดหวัง สร้างอายุสั้นยาว สร้างความโง่ ฉลาด ฯลฯ ซึ่งกรรมทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแต่เราเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น!

กระทำกรรมลงไปเช่นใด ย่อมต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้น อย่างไม่ผิดฝาผิดตัว ซึ่งแท้ที่จริง กรรมต่างหากเป็นผู้ลิขิตชีวิต หาใช่อินทร์พรหมยมยักษ์แต่อย่างใด และย่อม ไม่ผิดที่จะกล่าวได้ว่า “พระเหนือพรหม” เพราะหลักกรรม คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ถ้าเข้าใจ ยอมรับ และปรับชีวิตให้สร้าง แต่กรรมดี ย่อมสามารถเปลี่ยนลิขิต มีชีวิตอยู่เหนือดวงชะตาได้

พอได้ฟังรายละเอียดของพระเหนือพรหมต่อ จึงทราบว่า หลวงปู่ดู่ได้นำส่วนหนึ่ง ของคาถาพาหุง คือ ชัยชนะบทที่ 8 ของพระพุทธเจ้าซึ่งมีชัยเหนือท้าวพกาพรหม มาสร้างเป็นวัตถุมงคลนี้

โดยเนื้อหาของบทมนต์ท่อนนี้ คือ “…ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ”

แปลเป็นใจความว่า ‘พรหมชื่อพกา ถือตัวว่ามีความบริสุทธิ์ รุ่งเรือง และมีฤทธิ์มาก จึงสำคัญตนว่าดีที่สุด เก่งที่สุด เป็นอมตะ ไม่ตาย และยึดมั่นอยู่ในความเห็นผิดนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงสามารถทำให้ยอมละทิ้งทิฐิมานะ และยอมรับว่าพระพุทธเจ้าสูงส่งยิ่งกว่า จึงถือเป็นชัยชนะที่พระพุทธอยู่เหนือกว่าพรหมทั้งปวง’

เนื้อหาตอนที่พระพุทธเจ้ากำราบทิฐิของท้าวพกาพรหม ซึ่งเป็นมหาพรหมผู้เป็นใหญ่นั้น มีความน่าสนใจมาก เพราะพกาพรหมเป็นผู้มีทิฐิว่า “ตัวเองเก่งที่สุด” ถึงกับทูลพระพุทธเจ้าด้วยความถือดีว่า

“ท่านมาสู่พรหมโลกนี้เถิด พรหมโลกนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมโลกนี้ไม่ต้องเกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ สุขกว่าพรหมโลกไม่มีอีกแล้ว”

ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสตอบโต้โดยไม่ไว้หน้าว่า

“ดูกร พรหมผู้เจริญ ท่านกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงว่ามั่นคง กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงว่าแข็งแรง กล่าวว่าสิ่งที่มีความคลาดเคลื่อนเป็นธรรมดาว่าไม่มีความคลาดเคลื่อน พรหมโลกนี้มีทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งตาย ทั้งจุติ ทั้งอุบัติอยู่เป็นปกติ แต่ท่านกลับกล่าวว่าพรหมโลกนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านกำลังหลงในอวิชชาแล้วหนอ”

พกาพรหมก็มิใช่ยอม ยังคงเถียงต่อไม่หยุดว่า “ข้าแต่พระโคดม พวกข้าล้วนได้ทำบุญมาดีแล้ว มีอำนาจเหนือคนเหล่าอื่น ก้าวล่วงพ้นจากความเกิด ความแก่ การเกิดเป็นพรหมนี้ชื่อว่าถึงพระเวทแล้ว ข้าแต่พระโคดม การเกิดเป็นพรหมนี้ เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ความสุขยิ่งกว่าพรหมไม่มีอีกแล้ว”

พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสแสดงถึงความไม่เที่ยงในความเป็นพรหม แต่จนแล้วจนรอด ท่านพกาพรหม ก็ยังกอดมิจฉาทิฐิไว้ไม่ยอมปล่อย พอเถียงสู้ไม่ได้ ก็เริ่มคิดจะใช้กำลัง โดยประกาศว่า ตัวเองมีฤทธิ์เหนือกว่าผู้ใด! และท้าทายว่าจะหายตัวไปไม่ให้พระพุทธเจ้ามองเห็น (เหมือนกับคนทั่วไปในปัจจุบันที่มีมิจฉาทิฐิ คือ พอเถียงสู้ไม่ได้หรือมีเหตุผลไม่พอ ก็เริ่มใช้ความรุนแรงเข้าว่า!)

แต่ไม่ว่าท้าวพกาพรหมจะพยายามหายตัวไปซ่อนอยู่ที่ไหนใน 3 โลก พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นท้าวพกาพรหมอยู่ตลอด พอถึงคราวพระพุทธเจ้าซ่อนบ้าง ท้าวพกาพรหมกลับหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ!

เพราะ พระพุทธเจ้าไปซ่อนอยู่บนเศียรของพรหม จนทำให้ท้าวพกาพรหมต้องยอมศิโรราบ!

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มหาพรหม มองหาแต่สิ่งภายนอก มองหาแต่ที่อื่น มองเห็นหมดทุกภพภูมิ แต่กลับมองไม่เห็นตัวเอง ไม่ได้ดูตนเอง ไม่รู้ใจตัวเอง เพราะมัวแต่แสวงหาอยู่แต่สิ่งภายนอก จึงไม่มีวันได้พบกับ “พุทธะ”

นี่ถือเป็นหนึ่งในคติธรรมคำสอนที่พระพุทธทรงแสดงให้ประจักษ์ว่า

ถ้าบุคคลหนึ่ง ปรารถนาที่จะเห็นพระพุทธเจ้า คือ การเห็นธรรม บรรลุธรรม เข้าถึงธรรม ย่อมไม่ใช่การไปแสวงหาจากภายนอก แต่กลับเป็นการดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง และการมีสติรู้เนื้อรู้ตัวภายในตนเอง… หนทางนี้ต่างหาก คือ วิถีแห่งการหลุดพ้นออกจากทั้ง 3 โลกอย่างแท้จริง

พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน