สัปดาห์ก่อนพรรคแกนนำฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาล ขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที
ให้เหตุผลสรุปว่า รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นหลัก และขยายการใช้บังคับต่อเนื่องรวม 18 ครั้ง ครั้งล่าสุดถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
แต่กลับปรากฏในการออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกข้อห้ามครอบคลุมถึงการห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วย โดยระบุว่า
ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่
ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการ ผ่อนคลายมาตรการ แต่ข้อห้ามการชุมนุมทาง การเมืองยังคงอยู่ ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก
ปัจจุบันสถานการณ์โควิด ทุเลาเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลเตรียมประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงเป็นลำดับ เช่น เปิดให้เดินทางระหว่างประเทศโดยไม่ต้องตรวจคัดกรอง เพียงให้แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน เปิดโรงเรียนทั่วประเทศ เปิดให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงเปิดสถานบันเทิง เป็นต้น
ย่อมถือว่าสถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงต้องประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที ตามเจตนารมณ์กฎหมาย
การคงข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง นอกจากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังถือเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจํากัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
รัฐบาลยังควรมีมาตรการยุติการดำเนินคดีกับเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทุกคน ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกําหนดในมาตรา 9 ด้วย เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อประเทศ ต้องการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น
เมื่อยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลยังมีพ.ร.บ.ควบคุมโรคที่จะใช้เป็นเครื่องมือควบคุมโควิด
แถลงการณ์ดังกล่าวนายกฯ และรัฐบาลควรรับไปพิจารณาอย่างจริงจัง และควรยกเลิกทันที เพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวและการลงทุน คลายความอึดอัดของประชาชนในทุกด้าน เพื่อสอดรับแผนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ